X

ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้อง กกต.ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ระบุ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

กรุงเทพฯ – ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้อง 4 คำร้อง ประกาศ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.-สุโขทัย-สกลนคร ชี้ ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ระบุ บรรทัดฐานใหม่ หลังจากนี้ กกต.จะแบ่งเขตได้ตามชอบใจ

วันที่ 7 เมษายน 2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายกฟ้องในที่คดีที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม., นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จ.สกลนคร, นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จ.สุโขทัย และคดีที่ นายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ จาก จ.สุโขทัย ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีขอให้เพิกถอนประกาศ กกต. เรื่อง แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร, จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ลงวันที่ 16 มีนาคม 2566 ตามลำดับ

โดยเหตุผลว่า เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวน ส.ส.1 คน เป็นตัวตั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ของ กรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ตาม ประกาศ กกต. เรื่อง แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ในแต่พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย มีจำนวนไม่มาก หรือ มีจำนวนไม่น้อย กว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน ส.ส.1 คน จนเกินไป การที่ กกต.ออกประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง จ.สกลนคร 7 เขตเลือกตั้ง และ จ.สุโขทัย 4 เขตเลือกตั้ง จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) ที่กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน จึงพิพากษายกฟ้อง

‘อรรถวิชช์’ ชี้ บรรทัดฐานใหม่
ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา​ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี หนึ่งในผู้ร้อง ระบุว่า​ ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ เห็นได้ชัดว่า กกต.สามารถใช้กำหนดระเบียบ คือ การแบ่งเขตต้องแบ่งให้มีความใกล้เคียงกันแต่ตัวเลขเปอร์เซ็นต์จะแบ่งให้ได้ใกล้เคียงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ กกต.ใช้เกณฑ์ 10 % ในการมาบอกความใกล้เคียงแต่ละเขตนั้น ค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คนต่อราษฎร ถ้าต่างกันเกิน 10 % ซึ่งเราสู้มาโดยตลอดว่าเกณฑ์นี้ เป็นการทำให้ละลายเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าศาลพิพากษาให้เห็นชัดอีกว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของ กกต. นั่นก็เท่ากับว่า ในอนาคตข้างหน้า การลงพื้นที่ของ ส.ส.ทุกคน ก็จะมีโอกาสถูกแบ่งพื้นที่ใหม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ของพรรคการเมือง แต่ก็แล้วแต่ว่า กกต.จะแบ่งแบบไหน

ส่วนคำพิพากษาดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่ นายอรรถวิชช์ เชื่อว่าประชาชนคงจะสับสน ว่าทำไม เขต หรือแขวง ของประชาชน จึงไปปะปนกับเขตใหม่ ซึ่งเหตุผลที่ได้นำเสนอต่อ ศาล และ กกต. ว่า เขตเลือกตั้งทั้ง 33 เขตใน กทม. มีแค่ 4 เขตเท่านั้นที่เหมือนเดิม และได้เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2554-2557 ที่เป็นระบบการเลือกตั้งที่เป็นระบบการเลือกตั้งเดียวกัน แต่คำพิพากษาวันนี้ ได้ไปเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นคนละระบบเลือกตั้ง

เกณฑ์นี้ กกต.ตั้งใจมาตั้งแต่ต้น และเป็นการย้ำชัดอีกครั้งหนึ่งว่า กกต.สามารถกำหนดเกณฑ์ 10 % และในอนาคต กกต.เพียงไม่กี่ท่าน สามารถกำหนดเขตอย่างไรก็ได้ ตามที่เห็นควร

อย่างไรก็ตาม นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ที่มาร้องจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษานี้ ไม่คิดว่าพรรคชาติพัฒนากล้าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอะไร แต่เกณฑ์ของ กกต.ทำให้ระบบ ส.ส. และความเป็นผู้แทนเปลี่ยนแปลงไป

 

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"