X

นายแพทย์สาธารณสุขนครพนม เตือน รู้ทันฮีทสโตรก ( Heatstroke ) หนึ่งโรคฤดูร้อนอันตราย วันที่ 16 เม.ย.66 นายแพทย์ปรีดา วรหาร

 

วันที่ 16 เม.ย.66 นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า เท่าที่ดูข้อมูลภาพรวมในประเทศ โรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก 90% จะเกิดในช่วงเดือนเมษายน เพราะฉะนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่มีความสำคัญ เป็นโรคที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ถ้าช่วยเหลือเบื้องต้นไม่ทันผู้ป่วยอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีอุณหภูมิในร่างกายที่สูงมาก เพราะในร่างกายคนเรามีการผลิตความร้อนจากการเผาผลาญอาหาร ถ้าเราไปเจอกับอากาศที่ร้อนมาก ๆ หรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้การระบายความร้อนได้ไม่ดี 3 ปัจจัยนี้จะทำให้มีความร้อนในร่างกายเกินและเมื่อเกินจะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติไป

โดยระบบผิดปกติอันดับแรกที่สังเกตได้ชัดที่สุดก็คือ อาการทางสมอง เช่น อาจจะมีการวิงเวียนศีรษะ มึนงง บางคนอาจจะเดินเซ หรือหนักมากๆ ก็อาจมีอาการชักหรือหมดสติได้ ตามมาด้วยเรื่องของอุณหภูมิในร่างกายที่สูง คือตัวร้อน มีอาการเหมือนเป็นไข้สูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียสแต่มักจะไม่ค่อยมีเหงื่อให้เห็น โรคลมร้อนนี้จะต่างจากอาการเป็นลมทั่วไปอยู่คือ ตัวร้อน ไข้สูง แต่ตัวจะแห้ง ไม่มีเหงื่อออกให้เห็น เนื่องจากร่างกายขาดน้ำมาก อาการต่อมาคือชีพจรจะเร็วแล้วก็ความดันต่ำ ช็อกและหมดสติได้ ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ คือกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ที่มีโรคทางกายบางอย่างที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถที่จะเผาผลาญความร้อนหรือลดความร้อนในร่างกายได้ดี เช่น ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ทานยาเป็นประจำ โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้พี่น้องประชาชนต้องระวังว่า ท่านมีโอกาสเกิดโรคลมร้อนได้มากกว่าคนอื่น และมีโอกาสที่จะมีความรุนแรงมากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ถ้าเราพบว่ามีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ เสพสารเสพติดบางอย่างก็จะมีโอกาสเป็นโรคลมแดดมากกว่าคนอื่น

สำหรับวิธีป้องกันก็คงจะต้องดูที่ต้นเหตุเป็นหลัก เพราะบางท่านบอกว่าต้องทำงานกลางแจ้ง กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็มีข้อแนะนำเรื่องการแต่งกายที่อาจต้องสวมเสื้อผ้าที่ไม่หนามาก เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะบางท่านที่ออกกลางแดดกลางแจ้งแล้วกลัวผิวจะคล้ำเนื่องจากโดนแดด แล้วมีการใส่เสื้อแขนยาว สิ่งนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวที่อาจจะทำให้การระบายความร้อนในร่างกายไม่ดีได้ จึงขอให้พยายามหลีกเลี่ยงหรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คนที่ออกแดดกลางแจ้งนานๆ ก็ให้มีช่วงพักในการออกไปทำงาน โดยให้เข้ามาพักในที่ร่มสักหนึ่งชั่วโมงแล้วค่อยออกไปทำงานต่อ ที่สำคัญคือควรดื่มน้ำก่อนไปทำงานอย่างน้อย 2 – 3 แก้ว หรือดื่มเป็นระยะ หรือถ้าเป็นนักกีฬาที่ปั่นจักรยานในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนๆ ก็ให้มีช่วงพัก 20 กิโลเมตรต่อครั้ง นักวิ่งมาราธอนก็เช่นเดียวกัน และหากท่านใดมีโรคประจำตัว จริงๆ ก็อยากจะให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในช่วงเดือนเมษายน แต่ถ้าไม่ได้ก็ควรจะพกสมุดประจำตัวที่มีหลักฐานว่าทานยาอะไรเป็นประจำ โดยเฉพาะยากลุ่มขับปัสสาวะ เพราะเป็นยาที่เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคลดแดดได้ นักกีฬาเป็นอีกกลุ่มที่แพทย์เป็นห่วงกันเพราะเชื่อว่านักกีฬาเป็นผู้ที่มีความแข็งแรง แต่จริง ๆ แล้ว โรคลดแดดเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับว่า ท่านแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง ถ้าเกิดภาวะฉุกเฉินแล้วร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน ก็มีโอกาสเป็นโรคลมแดดและเสียชีวิตได้ทันทีเหมือนกัน ฉะนั้นหากต้องวิ่งมาราธอนหรือออกกำลังกายอะไรก็แล้วแต่ อาจจะต้องเปลี่ยนช่วงเวลาเป็นช่วงเวลาที่ไม่ร้อนมาก นอกจากนี้คนอ้วนก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในที่แดดร้อน ๆ เพราะคนอ้วนก็เป็นอีกกลุ่มที่จะเกิดโรคลมแดดได้เช่นเดียวกัน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน