X

แห่ แชะ แชร์ พายุฤดูร้อน ทำ ‘ลูกเห็บตก’ ย่านสุขาภิบาล 5 สายไหม

กรุงเทพฯ – พายุฤดูร้อน กรุงเทพฯ โดนด้วย ฝนตกหนัก ลมแรง ซัดลูกเห็บขนาดเท่าหัวแม่มือตก ย่านสายไหม  ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน ‘พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 6

วันที่ 24 เมษายน 2566 ช่วงเย็นที่ผ่านมา เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ย่านถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังมีลูกเห็บตก และลมกระโชกแรง ที่เขตสายไหม บางเขน และพื้นที่ใกล้เคียง บางจุดลมพัดต้นไม้ ป้ายโฆษณา สิ่งปลูกสร้างไม่แข็งแรง รวมถึงหลังคาที่พักและร้านค้าชั่วคราว ปลิวไปตามท้องถนน แต่โชคดีไม่มีใครได้รับอันตราย

ประชาชนที่ประสบเหตุ หรือผู้พักอาศัยในย่านถนนสุขาภิบาล 5 ซึ่งเป็นจุดที่ลูกเห็บตก ต่างพากันยกโทรศัพท์มือถือ ขึ้นมาถ่ายภาพนิ่งและคลิป กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า เพราะไม่ได้พบเห็นกันบ่อย ๆ และไม่มีใครคาดคิด

คลิปลูกเห็บตกที่เห็นอยู่นี้ เกิดขึ้นบริเวณบ้านพักอาศัยของประชาชน ในซอย 73 (จุดเข้ามายังสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสายไหม)

เจ้าของคลิปเปิดเผยว่า พายุลูกเห็บตกเป็นเวลาประมาณ 15 นาที มาพร้อมลมแรง ๆ ที่พัดพาจนลูกเห็บขนาดเกือบเท่าหัวแม่มือ กระเด็นกระดอนบนหลังคาบ้านเสียงดังมาก เกรงว่ากระเบื้องจะแตกร้าว หลังคาจะทะลุ แต่โชคดีที่ไม่มีอะไรเสียหาย และไม่มีใครได้รับอันตราย

อย่างไรก็ตาม พายุลูกเห็บตกครั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ไม่ได้แจ้งเตือนพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ขณะเดียวกัน กรมอุตุฯ ได้ออกประกาศ ‘พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 6 (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 24-26 เมษายน 2566)’ ดังนี้

ในช่วงวันที่ 24-26 เมษายน 2566 ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น

จังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 25-26 เมษายน 2566

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ณ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2566 เวลา 05.00 น.

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"