X
พื้นที่ใกล้สถานี

ปักหมุดฟังความเห็นชาวบ้าน ร่วมพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงแปดริ้ว

ฉะเชิงเทรา – ปักหมุดสำรวจความเห็นชาวบ้านแปดริ้ว เตรียมพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา รัศมี 500 เมตร รวมกว่า 200 ไร่ตามโครงการพัฒนา TOD ในเส้นทางเดินรถสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน เผยมุ่งเน้นให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะชาวบ้านหลายรายยังกังวลผลกระทบ เหตุเป็นแผ่นดินผืนสุดท้ายในปั้นปลายชีวิต

วันที่ 9 พ.ค.66 เวลา 09.30-12.30 น. ที่ห้องประชุมโชคอนันต์ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทราขึ้นเป็นครั้งที่ 1 ตามโครงการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟ

ห่างจากสถานีเดิม 1 กม.

เกี่ยวกับความสนใจในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาควบคู่ไปกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกในระยะ 5 ปีในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในครั้งนี้กว่า 100 คน โดยมีนายวราวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและ TOD กล่าวถึงความเป็นมาของสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทราต่อผู้ร่วมการประชุมว่า

สถานีHSR ฉะเชิงเทรา

สาเหตุที่สถานีต้องตั้งอยู่นอกตัวเมืองห่างจากสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราเดิมไปประมาณ 1 กม. บนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่นั้น มีสาเหตุที่ไม่สามารถใช้สถานีเดียวกันได้ เนื่องจากสถานีเดิมนั้นมีพื้นที่คับแคบและต้องผ่านตลาดเข้าสู่ชุมชน อีกทั้งขบวนรถไฟความเร็วสูงยังต้องการใช้พื้นที่ในการตีโค้งมากกว่ารถไฟปกติ เนื่องจากมีขบวนที่ยาวกว่า ที่ผ่านมาได้มีการเวนคืนที่ดิน ในการเตรียมการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว

นายวราวุฒิ มาลา

ทั้งด้านฝั่งขวาของ ถ.สุวินทวงศ์ (304) ด้านขาเข้า กทม. คือ สถานีรถไฟและทางด้านซ้ายมือเป็นพื้นที่ของโรงงานซ่อมบำรุงรวมประมาณ 500-600 ไร่และพร้อมที่จะทำการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดในเส้นทางเพื่อดำเนินการก่อสร้างภายในปีนี้ โดยเริ่มจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังอู่ตะเภาก่อน โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 5 ปี ส่วนการเดินทางมาในวันนี้เกิดจากประเด็นที่จะมีรถไฟความเร็วสูงผ่าน จ.ฉะเชิงเทรา โดยหลักทฤษฎีแล้ว คือ จะนำคนและความเจริญเข้ามาด้วย จึงต้องเตรียมการรองรับ

ลงพื้นที่ฟังความเห็น

จากอดีตเมื่อรถไฟไปยังที่ใด ก็จะพัฒนาแต่เฉพาะเพียงพื้นที่ของตัวเอง และไม่เคยไปคุยกับคนภายนอกว่าต้องการอะไร จนกระทั่งรถไฟนำความเจริญนำคนเข้ามาแล้วจึงเกิดการกว้านซื้อพื้นที่ มีการจับจองพื้นที่เกิดขึ้น เพื่อทำอะไรต่างๆ ตามมา ซึ่งลักษณะนั้นเป็นการโตแบบธรรมชาติ หากใครมีทุนก็ได้ไป เราจึงอยากเห็นความเจริญตามหลักการพัฒนาสมัยใหม่ คือ อยากให้คนท้องถิ่นเป็นหลัก

พัฒนาพื้นที่รอบสถานี

และผู้ที่จะเป็นหลักในการพัฒนาท้องถิ่นได้ คือ หน่วยงานราชการทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองและผู้นำชุมชนนั้น ที่ต้องการจะให้พื้นที่ของท่านพัฒนาไปในรูปไหนได้ทั้งหมด ในการเปิดพื้นที่พัฒนาใหม่ โดยมีพื้นที่ไข่แดง คือ สถานีรถไฟ โดยเฉพาะพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ของสถานีแปลง 100 ไร่นี้ หากไม่คิดกันไว้ตั้งแต่ในวันนี้ เมื่อเริ่มทำการก่อสร้างไปแล้วอาจจะคิดไม่ทัน และจะพบแต่นายทุนมากว้านซื้อที่ดินไป

ฟังเสียงเจ้าของที่ดิน

และเมื่อนายทุนเข้ามาแล้ว คนพื้นที่จะทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว โดยเขาจะเอาไปทำอะไรเขาก็จะไม่บอกให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ อาจจะได้สิ่งเดือดร้อนรำคาญนั่นคือการเติบโตในอดีต แต่หากมีการวางแผนกันไว้ตั้งแต่ต้น ฝ่ายการเมืองทุกระดับต้องช่วยกันกับผู้นำชุมชน ต้องมานั่งคุยกันว่าจะทำอะไร ในการวางแผนเปิดเมืองใหม่ให้คนแปดริ้วว่าจะเปิดอย่างไร ต้องการอะไร หรือต้องการเห็นอะไร แล้วไปคุยกันกับเจ้าของที่ดินนั้นๆ โดยมีพื้นที่ต้องการจากเขตติดต่อกับสถานีรถไฟออกไปประมาณ 200 ไร่

อยากให้มาร่วมกันพัฒนา

ให้มีการวางแผนกันมา ก่อนนำมาตกผลึกและแจ้งความประสงค์เข้ามายังทางอีอีซี โดยทางอีอีซีจะเป็นผู้ประสานงานให้ เพื่อให้หน่วยราชการทั้งหลายได้มีการเตรียมพร้อมในการวางโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสร้างเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ และถือเป็นเมืองใหม่เอี่ยมที่จะวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้าได้ในทุกด้าน แม้แต่เรื่องเงินทุนก็ยังสามารถให้ทางอีอีซีช่วยเหลือติดต่อประสานงาน หาความช่วยเหลือจากทางธนาคารของรัฐให้ได้ด้วย ก็ยังสามารถทำได้

แผนพัฒนา

จึงอยากจะให้ท้องถิ่นได้ช่วยกันตั้งทีมขึ้นมา ว่านโยบายเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องขนาดเท่าใด จากนั้นให้ใช้วิธีระดมความคิด วิธีการที่จะสำรวจว่าใครเป็นเจ้าของและจะมาร่วมทุนร่วมหุ้นกันอย่างไร โดยที่เจ้าของที่ดินเดิมอาจไม่ต้องขายให้ใครก็ได้ ในวันนี้จึงอยากจะเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นเบื้องต้น และเน้นย้ำว่าไม่ใช่การเวนคืน หากจะทำกิจกรรมที่ต่อเนื่องใหญ่ๆ เราก็ยังมีที่ปรึกษาให้มาช่วยแนะนำ ด้วยหลักแนวคิดแบบคนญี่ปุ่น ที่ทำมาก่อนกว่า 40 ปีแล้วให้เป็นเมืองน่าอยู่

และในประเทศไทยเรานั้น ยังไม่มีเกิดขึ้นในลักษณะนี้ นอกจากเป็นของทางภาคเอกชนจึงอยากให้ ชาว จ.ฉะเชิงเทรา ทำที่สถานีรถไฟแห่งนี้ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นเมืองต้นแบบ นายวราวุฒิ กล่าว

ชาวบ้านยังกังวล

ขณะที่บรรยากาศในการนำแสนอความคิดเห็นนั้น ยังมีชาวบ้านหลายรายแสดงความกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องของที่ดิน ซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่เคยคาดหวังเอาไว้ว่า จะใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยในบันปลายชีวิต แต่ได้มีโครงการนี้เข้ามาบีบในพื้นที่ หากไม่ยินยอมเข้าร่วมโครงการพัฒนาที่ดินในครั้งนี้ด้วย แต่เพื่อนบ้านข้างเคียงเข้าร่วมกันทั้งหมด ก็อาจจะได้รับความไม่สะดวกหรือถูกปิดล้อมอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายได้ รวมถึงยังมีผู้ที่ยังห่วงกังวลถึงเรื่องสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน