ฝ่ายปกครองอำเภอสหัสขันธ์ ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และธ.ก.ส.สาขาสหัสขันธ์ ร่วมลงพื้นตรวจสอบ “ฟาร์มหมูขี้เหม็น” ที่กำลังส่งมลพิษทางอากาศกระทบสุขภาพชาวบ้าน ระบุมีกลิ่นเหม็นจริง แต่ให้โอกาสปรับปรุงแก้ไขระบบดับกลิ่นภายใน 2 เดือน ด้านปศุสัตว์ระบุกลิ่นเหม็นแต่ไม่กระทบรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
จากกรณีชาวบ้าน 2 ใน ต.สหัสขันธ์ และต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนสาหัส จากกลิ่นเหม็นของขี้หมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดหัวปวดประสาทและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ล่าสุดล่ารายชื่อ และร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชนและผู้เลี้ยงหมู ให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่บริเวณฟาร์มเลี้ยงหมูรายนุกูล ทองจรัส อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ 2 บ้านโนนศรีสวัสดิ์ ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งตั้งฟาร์มเลี้ยงหมูในเขตบ้านถ้ำปลา นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมภายนอกฟาร์มเลี้ยงหมู ทั้งนี้ ยังมีคณะของนายนพดล ร้อยพวง ปลัดอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยนายธวัชชัย บุญทานันท์ นายก อบต.สหัสขันธ์ นายสุระเดช วงษ์ศรีทา ผจก.ธกส.สาขาสหัสขันธ์ นายชุมพล แสบงบาล สาธารณสุข อ.สหัสขันธ์ เดินทางมาสมทบเพื่อร่วมตรวจสอบด้วย โดยมีนายนิติชัย ประเสริฐสุข นักวิชาการส่งเสริม ตัวแทนบริษัทเอกชนและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ให้ข้อมูล
ข่าวน่าสนใจ:
โดยนายนุกูล ทองจรัส เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู กล่าวว่า ฟาร์มหมูแห่งนี้ตนมีหุ้นส่วนกับพี่สาว โดยได้รับการแนะนำจากบริษัทเอกชนให้เข้าร่วมโครงการ โดยทำโครงการเลี้ยงหมูยื่นกู้กับ ธ.ก.ส.สาขาสหัสขันธ์ วงเงินประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งเลี้ยงทั้งหมูแม่พันธุ์ หมูเนื้อ ประมาณ 1,400 ตัว ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาส่งกลิ่นเหม็นแบบนี้ พอมีปัญหาก็ปรึกษาตัวแทนบริษัทเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมว่าจะแก้ไขอย่างไรดี เพราะเพิ่งเลี้ยงหมูมาไม่ถึงปี ก็ประสบปัญหาถูกชาวบ้านร้องเรียนเสียแล้ว ซึ่งสิ่งที่ทางตัวแทนบริษัทแนะนำก็คือ การจัดระบบกำจัดกลิ่นจากขี้หมู โดยให้ถุงแก๊สกักเก็บ แทนที่จะปล่อยลงบ่อปฏิกูล เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิง โดยในการแก้ปัญหาเบื้องต้นนี้ จะทำม่านน้ำเพื่อดูดซับกลิ่นเหม็นก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดระบบป้องกันกลิ่นขี้หมูเหม็นนั้น เกษตรกรจะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น หรือเป็นการขยายวงเงินกู้อีกชั้นหนึ่ง โดยปัญหาที่เกิดขึ้นตนก็จะไม่ท้อ จะสู้เลี้ยงหมูให้ถึงที่สุด ทำยังไงได้ในเมื่อลงทุนแล้ว
ด้านนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นในส่วนของการขออนุญาตจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงหมู ทราบว่าทาง อบต.สหัสขันธ์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้อนุญาตถูกต้อง ขณะที่ในส่วนของการออกแบบอาคารหรือฟาร์มเลี้ยงหมูนั้น ทางบริษัทเอกชนและเกษตรผู้เลี้ยงหมูรับผิดชอบ ทั้งมาตรฐานและการจัดหาผู้รับเหมาในการก่อสร้างเอง แต่ในส่วนของการขออนุญาตใช้น้ำบาดาลซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติ มาใช้ในการบริหารจัดการในฟาร์มนั้น ทราบว่าบางฟาร์มขออนุญาตแล้ว และบางฟาร์มยังไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งได้แนะนำให้รีบดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กรณีมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านชุมชนใกล้ฟาร์มเลี้ยงหมู ว่าได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นของขี้หมู ทางปศุสัตว์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง อบต.สหัสขันธ์ บริษัทที่เข้ามาส่งเสริม สาธารณสุข และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหา โดยปัญหาที่พบซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดกลิ่นเหม็นของขี้หมูนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเกิดจากระบบการกำจัดของเสีย ซึ่งเป็นในส่วนของการติดตั้งระบบบอลลูมหรือถุงบรรจุแก๊สยังไม่แล้วเสร็จ จึงกำชับให้ดำเนินการแก้ปัญหา โดยได้กำหนดกรอบเวลา 2 เดือน ซึ่งจะเป็นในช่วงจำหน่ายหมูออกพอดี ก็จะมีการจัดระบบภายในฟาร์มให้เสร็จสมบูรณ์ สำหรับกลิ่นเหม็นของขี้หมูที่ชาวบ้านกังวล และร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนนั้น แค่ทำให้รู้สึกรำคาญ ยืนยันไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: