สุราษฎร์ธานี-ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีขุดพบ “พานทองคำ” ระหว่างปรับพื้นที่ก่อสร้างมณฑปในวัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ฯไชยา ระบุ เทียบประติมากรรมแล้ว อาจเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนต้น
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา เพื่อตรวจสอบ “พานทองคำ” วัตถุโบราณที่ขุดพบด้วยความบังเอิญ ระหว่างการปรับหน้าดิน เตรียมพื้นที่ก่อสร้างมณฑป ภายในวัดโพธาราม หมู่ที่ 3 ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี นายชวลิต โรจนรัตน์ นายอำเภอไชยา พร้อมด้วย นายกิตติ ชินเจริญธรรม หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และนายวรัญญู ชูศรี กรรมการวัดโพธาราม ร่วมให้ข้อมูล
นายวรัญญู ชูศรี เล่าว่า ระหว่างที่รถแบ็คโฮ กำลังขุดดินลึกประมาณ 1.5 เมตร ได้มีคนงานสังเกตเห็นวัตถุแวววาว ในกองดินที่ขุดขึ้น จึงเข้าไปเก็บและนำไปล้างน้ำ ก่อนจะพบว่า พานเนื้อโลหะสีทอง เมื่อนำไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นทองคำแท้ น้ำหนัก 52.89 กรัม หรือประมาณ 3 บาท 2 สลึง มีลวดลายเป็นกลีบบัวซ้อน ขนาดหน้าพานกว้าง 8.4 ซ.ม. สูง 5.2 ซ.ม. ฐานสูง 1.7 ซ.ม. ฐานล่างกว้าง 5.3 ซ.ม. จึงได้เชิญ นายกิติ ชินเจริญธรรม หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอไชยา เข้ามาตรวจสอบเบื้องต้น และมอบให้พระครูอธิการสุภาส ถิระจิตโต เจ้าอาวาสวัดโพธาราม เป็นผู้เก็บรักษา แต่ต่อมาตกลงกันว่า จะส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาไว้ชั่วคราว เมื่อมณฑปก่อสร้างเสร็จ ก็จะนำมาบรรจุไว้ เพื่อให้ประชาชนและคนรุ่นหลังได้ชื่นชม
ข่าวน่าสนใจ:
ด้านนายกิติ ชินเจริญธรรม หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอไชยา กล่าวว่า หลังจากได้รวบรวมข้อมูลประติมากรรมลักษณะเดียวกันจากแหล่งอื่นๆ ก็พบว่า มีความใกล้เคียงกับวัตถุโบราณจากกรุราษบูรณะ ทั้งลวดลาย และวิธีการขึ้นรูป ซึ่งเป็นของเก่าในยุคอยุธยาตอนต้น และส่วนใหญ่เครื่องใช้ที่ทำจากทองคำก็จะเป็นของใช้ของชนชั้นสูง หรือการทำถวายวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจมีอีกหลายชิ้น ในลักษณะเป็นชุด เหมือนที่เคยค้นพบในที่อื่นๆ
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า พานดังกล่าว ถือเป็นของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเมืองไชยาและพุมเรียง ที่เป็นเมืองท่าสำคัญในอดีต ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ซึ่งขณะนี้ทราบว่า กรรมการวัด และ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ได้กันพื้นที่ ไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาขุดค้น หรือร่อนดินทรายที่ขุดขึ้นมาเพื่อหาของมีค่า ส่วนการกันพื้นที่ให้กรมศิลปากร หรือให้ทางพิพิธภัณฑ์ ได้มาขุดค้น เพื่อหาวัตถุโบราณไปเก็บรักษา ได้หรือไม่นั้น ขอให้เป็นสิทธิ์ของกรรมการวัด ผู้นำท้องถิ่น และ เจ้าหน้าที่ได้หาข้อสรุปร่วมกัน แต่สิ่งสำคัญ คือ อยากฝากให้ชาวบ้านในพื้นที่ ได้ช่วยกันอนุรักษ์วัตถุโบราณ ตลอดจน สิ่งก่อสร้างโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ถึงอดีตของเมืองไชยา.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: