ลำปาง – จังหวัดลำปาง ร่วมกับ กฟผ. และพันธมิตร ประเดิมปลูกป่านำร่องมาตรฐาน Premium T-Ver แห่งแรกในประเทศไทย ตามเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในปี 2574
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และดีเจคู่หูดูโอ้ โก-ตฤณ เรืองกิจรัตนกุล และ เป้-วิศวะ กิจตันขจร จากคลื่น Green Wave 106.5 นำ 15 คู่ผู้โชคดีร่วมปลูกป่าลดคาร์บอนนำร่องมาตรฐาน Premium T-Ver ที่เทียบเท่ามาตรฐานคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ระดับสากลแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ.
ซึ่งจังหวัดลำปาง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ กฟผ. ร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่โลก โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ นักเรียน นักศึกษา ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และชุมชนในพื้นที่ ณ ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ระบุว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่สนองนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ช่วยจัดการคุณภาพอากาศ และยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการดูดซับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ เป็นภารกิจที่ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตร เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน ซึ่งนอกจากดำเนินงานในพื้นที่ ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง แล้ว ยังต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวางในอนาคต
ข่าวน่าสนใจ:
ด้านนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เปิดเผยว่า การปลูกป่าในพื้นที่นี้ เป็นการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา จ.ลำปาง จำนวน 2,000 ไร่ โดยจะเป็นการปลูกป่าที่ยกระดับจากมาตรฐาน T-VER เป็น Premium T-VER แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะใช้มาตรฐานการประเมินแบบสากล ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) และการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า
ด้วยการเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ก่อนริเริ่มดำเนินโครงการ การประเมินการพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน รวมถึงการขยายตลาดคาร์บอนเครดิตจากในประเทศสู่ต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2593 ของ กฟผ. และ Thailand Carbon Neutrality ตามกรอบแผนพลังงานชาติ โดย กฟผ. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ปลูกป่านำร่องในพื้นที่ 25 ไร่ ด้วยกล้าไม้ 13 ชนิด จำนวน 5,000 ต้น อาทิ กัลปพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ พะยอม เสลา เหลืองปรีดียาธร อินทนิลน้ำ
โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. มีเป้าหมายปลูกปีละ 1 แสนไร่ รวม 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2565-2574 และบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 9 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ในการปลูกป่าและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าด้วยกล้าไม้พันธุ์ดี เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ พัฒนาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติให้เป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศ ผลักดันโครงการที่เสริมสร้างกระบวนการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ
กฟผ. ได้วางหลักการปลูกป่าร่วมกับพันธมิตร ปลูกป่าดูดซับคาร์บอนสูง ปลูกป่าในใจ และปลูกป่าเป็นยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลน ซึ่งสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่า 1.2 ล้านตัน CO2 ต่อปี และคาดว่าจะดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้น 23.6 ล้านตัน CO2 ตลอดระยะเวลาโครงการ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: