กรุงเทพฯ – นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หารือ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ย้ำ เพิ่มรายได้ด้วยหวยใบเสร็จ เตรียมรื้อกฎหมาย ออกนโยบายพิจารณาใบอนุญาตภายใน 15 ทัน ดันตั้งสภาเอสเอ็มอี
วันที่ 13 มิถุนายน 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรค ร่วมหารือกับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นำโดย นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ฯ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางในการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
นายพิธา ระบุว่า ได้พูดคุยถึงทิศทางการบริหารเศรษฐกิจแบบมหภาค และลงลึกถึงสถานการณ์ของเอสเอ็มอี การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้ และสัดส่วนของเอสเอ็มอี ต่อจีดีพี ของแต่ละประเทศ ความต้องการของสมาพันธ์เอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสมุดปกขาว และการชี้แจงนโยบายสำคัญ ๆ ที่จะมีส่วนช่วยเอสเอ็มอี การเพิ่มรายได้ให้เอสเอ็มอีด้วยหวยใบเสร็จ หรือกฎหมายต่าง ๆ เพื่อที่จะตั้งสภาเอสเอ็มอี เพื่อให้เป็นระดับเดียวกับ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เพื่อสร้างโอกาสและแต้มต่อในการต่อรอง และสามารถตัดลดต้นทุนทางพลังงาน ดอกเบี้ย และกฎหมายที่ไม่จำเป็น ที่ส่งผลต่อต้นทุนของเอสเอ็มอี รวมถึงการขอใบอนุญาตต่าง ๆ จากราชการ
พรรคก้าวไกลตั้งเป้าหมาย ให้มีการทบทวนกฎหมายและใบอนุญาต เพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นสำหรับภาคธุรกิจ โดยภายใน 4 ปี ตั้งเป้ายกเลิกใบอนุญาต 50% และยกเลิกทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค รวมถึงออกกฎหมายเพื่อรับประกันกรอบระยะเวลากระบวนการพิจารณาใบอนุญาตไว้ที่ไม่เกิน 15 วัน หากหน่วยงานพิจารณาเสร็จไม่ทันภายใน 15 วัน ให้ถือว่าคำขออนุญาตนั้น มีผลบังคับใช้เหมือนใบอนุญาตทันที
นายพิธา ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลพร้อมทำงานกับเอสเอ็มอี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี เพราะถือว่าเอสเอ็มอี คือ รากฐานของเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมา งบประมาณเอสเอ็มอี มีเพียง 2,700 ล้านบาท ขณะที่เรือดำน้ำลำเดียว 30,000 ล้านบาท ชัดเจนมากว่าการดำเนินการของภาครัฐก่อนหน้านี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญผู้ประกอบการรายย่อยมากเพียงพอ
ข่าวน่าสนใจ:
พรรคก้าวไกลไม่ได้ต้องการเพียงแค่ประคับประคองให้ เอสเอ็มอีไทยอยู่รอด แต่ต้องการทำให้มีศักยภาพในการทำธุรกิจมากขึ้น มีขีดความสามารถในการแข่งขันและมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งในระยะยาว ผ่านแนวทาง 5 ต. ประกอบด้วย
1.แต้มต่อ เช่น นโยบายหวยใบเสร็จ
2.เติมทุน เช่น นโยบายทุนสร้างตัว รายละ 100,000 บาท
3.ตัดต้นทุน เช่น นำค่าแรงขั้นต่ำมาหักภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี
4.เติมตลาด เช่น นโยบายกำหนดชั้นวางสินค้าเอสเอ็มอี ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่
5.นโยบายตั้งสภาเอสเอ็มอีให้มีอำนาจต่อรองเทียบเท่าทุนใหญ่
นายพิธา กล่าวด้วยว่า เคยนำเสนอชุดนโยบายเหล่านี้ แก่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยไปแล้ว ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ในวันนี้ ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี ยังขอยืนยันคำเดิม และพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้ขับเคลื่อนชุดนโยบายเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้จริง ภายใน 4 ปีของการเป็นรัฐบาล
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวสนับสนุนนโยบาย 5 ต. ของพรรคก้าวไกล ขอเป็นกำลังใจและสนับสนุนว่าที่รัฐบาล ให้ได้ขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ให้สำเร็จ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าและลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กังวลนโยบายปรับขึ้นค่าแรงงานเป็นวันละ 450 บาท เนื่องจากอาจกระทบต่อการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน และทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ยืนยันว่าไม่ใช่การคัดค้าน เพียงแต่ต้องการเห็นตัวเลขที่เหมาะสม และผ่านการเจรจาจากคณะกรรมการไตรภาคี ควรต้องหารือกันก่อน และเห็นว่าค่าแรงที่สูงขึ้น ยังไม่สำคัญเท่ากับฝีมือแรงงานที่พัฒนาขึ้น หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็จะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
นายแสงชัย ยังกล่าวถึงการตั้งคณะทำงาน ระหว่างสมาพันธ์ฯ และพรรคก้าวไกล เพื่อลงรายละเอียด ข้อเสนอเชิงนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อเปิดช่องทางการทำงาน ระหว่างภาคเอกชนและว่าที่รัฐบาลอย่างต่อเนื่องต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: