X

ชาวนครพนม จัดพิธีบุญซำฮะเมือง ไล่สิ่งอัปมงคลสืบสานประเพณีบุญเดือน 7

วันที่ 17 มิถุนายน 2566 ที่บริเวณวัดโอกาส(ศรีบัวบาน) เทศบาลเมืองนครพนม ประชาชนชาวจังหวัดนครพนมพร้อมใจใส่ชุดขาวร่วมประกอบพิธีประเพณีบุญเดือน 7 หรือบุญซำฮะเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในงานประเพณีฮิตสิบสองคองสิบสี่ ที่ชาวอีสานทุกคนได้ยึดถือปฏิบัติเป็นขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดมาช้านาน โดยในปี้นี้เทศบาลเมืองนครพนมได้มีการสมมติบุคคลครองยศและตำแหน่งต่างๆ เพื่อประกอบพิธีบุญซำฮะเมือง ประกอบไปด้วย พระครูพิชิตพัฒนคุณ รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดกกต้องเป็นราชครู นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเป็นอุปฮาด นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเป็นเมืองขวา นายอดิศร ตรีเนตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนมเป็นเมืองซ้าย นางสาวบุศรินทร์ ปานกลาง อัยการจังหวัดนครพนมเป็นราชวงศ์ นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมเป็นตาเมือง นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ นายอำเภอเมืองเป็นหูเมือง พันตำรวจเอก ลือศักดิ์ ดำเนินสวัสดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมเป็นทะแกล้ว พันเอก จักริน จิตคติ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 เป็นทหาร และนายสุเทพ อติวรรณกุล นายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนมเป็นกวนขุน

โดยทุกคนได้ร่วมกันสวดมนต์ไหว้พระ สมาทานศีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ก่อนที่จะร่วมกันรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระราชสิริวัฒน์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดสว่างสุวรรณารามประธานฝ่ายสงฆ์ ที่ได้เทศน์สอนให้ทุกคนได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาของพิธีบุญซำฮะเมือง ที่ประกอบขึ้นเพื่อขับส่งเสนียดจัญไร สิ่งชั่วร้าย สิ่งอัปมงคลให้ออกไปจากเมือง รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรับน้ำฝน ซึ่งหากทุกคนรู้จักการเก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณโดยรอบบ้านตนเอง จะทำให้เมื่อฝนตกลงมาจะไม่มีน้ำท่วมขัง ไม่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและมีสุขอนามัยที่ดี โดยหลังเสร็จพิธีสงฆ์แต่ละท่านที่ครองยศและตำแหน่งได้ประกอบพิธีจุดเทียนหลักเมืองตามยศและตำแหน่งทักษิณา ที่มีการสมมติขึ้นมาว่าเป็นทิศต่าง ๆ รอบกำแพงเมืองนครพนม ตามด้วยการปักธงและโปรยเหรียญ จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาร่วมงานได้นำธงที่เตรียมมา ไปปักและโปรยเหรียญ ก่อนที่จะไปรับน้ำมนต์ที่ได้จากการประกอบพิธี นำไปประพรมตามบ้านเรือนของตนเองและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข

สำหรับบุญซำฮะเมือง หรือบุญชำระเมืองนั้น เกิดขึ้นตามความเชื่อที่ว่าเมื่อถึงเดือน 7 ต้องทำบุญชำระจิตใจให้สะอาด เพื่อปัดเป่ารังควาญสิ่งที่ไม่เป็นมงคลออกไปจากชีวิตและหมู่บ้าน โดยบางท้องถิ่นเรียกประเพณีนี้ว่าบุญเบิกบ้าน ทั้งนี้บุญซำฮะเมืองมีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า เมื่อครั้งเมืองไพสาลีเกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพงเพราะฝนแล้ง ทำให้มีสัตว์เลี้ยงและผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ด้วยความหิวโหยและเกิดโรคระบาด ดังนั้นชาวเมืองจึงพากันไปนิมนต์พระพุทธเจ้ามาขจัดปัดเป่าให้ โดยพระองค์และพระสงฆ์ จำนวน 500 รูป ได้เดินทางด้วยเรือมาตามแม่น้ำใช้ระยะเวลา 7 วัน จึงถึงเมืองไพสาลี และเมื่อเสด็จมาถึงก็เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำท่วมแผ่นดินสูงจนถึงหัวเข่า และได้พัดเอาสิ่งสกปรก ซากศพของคนและสัตว์ต่างๆ ที่ล้มตายหายไปจนหมดสิ้น จากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้นำน้ำมนต์ใส่บาตร ให้พระอานนท์นำไปประพรมทั่วทั้งพระนคร ทำให้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หายไปสิ้น จึงเป็นเหตุให้เมื่อถึงเดือน 7 ครั้งใด คนไทยอีสานและคนลาวโบราณพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียน ขันน้ำ ขันใส่ขวดทรายและฝ้ายผูกแขนมารวมกันที่วัด จากนั้นก็นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จนกระทั่งรุ่งเช้าอีกวัน ก่อนที่จะร่วมกันทำบุญตักบาตร รับศีลรับพรและประพรมน้ำมนต์ จากนั้นทุกคนจะนำน้ำมนต์ที่เหลือกลับไปยังบ้านตนเอง เพื่อประพรมให้คนในครอบครัว บ้านเรือนและสัตว์เลี้ยงของตนเอง ส่วนฝ้ายผูกแขนก็นำไปให้บุตรหลาน เพื่อใช้เป็นเครื่องรางคอยปกป้องคุ้มครองให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข ขณะที่กรวดทรายก็นำไปวางรอบๆ บริเวณบ้านและที่นา เพื่อขับไล่เสนียดจัญไรและสิ่งอัปมงคลให้หมดไปจากชีวิต

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน