X

ลำพูน  เครือข่ายงดเหล้า 8 จังหวัดภาคเหนือบน ร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐใส่ใจ

เครือข่ายงดเหล้า 8 จังหวัดภาคเหนือบน ร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐใส่ใจ ผลักดันนโยบายอย่างจริงใจ  เน้นปกป้องลดผลกระทบ หวังเยาวชนรู้เท่าทันสื่อโฆษณาไม่ตกเป็นเหยื่อก่อปัญหาสังคมจากภัยน้ำเมา

วันที่ 25 มิถุนายน 2566 ที่ห้างสรรพสินค้าแจ่มฟ้า ช๊อปปิ้งมอลล์ จ.ลำพูน  นายชาตรี  กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน  เป็นประธานมอบโล่เกียรติคุณรางวัลนักสร้างเสริมสุขภาวะล้านนา ปี 2566 สำหรับภาคีเครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด(เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน)  จำนวน 16 รางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูผู้ที่ร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดนโยบายการป้องกันปัญหาจากและผลกระทบเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัดตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ได้มอบโล่เกียรติคุณให้กับ นายชาตรี  กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญชวนให้ประชาชนปฏิญาณงดเหล้าเข้าพรรษา ตลอด 10 ปี ยังเป็นอดีตนายอำเภอนักรณรงค์ 2 ปี ซ้อน ในกิจกรรมมีเวทีแลกเปลี่ยนการเสวนาสุขภาวะล้านนาเรื่อง “ผลกระทบและการปรับตัวจากสถานการณ์ปัญหาสุราในเขตภาคเหนือตอนบน” ขึ้น

นายชาตรี  กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวในเวทีครั้งนี้ว่า ขอบคุณเครือข่ายงดเหล้าที่ให้เกียรติมอบโล่เกียรติคุณรางวัลนักสร้างเสริมสุขภาวะ และขอแสดงความยินดีกับ 16 ท่านที่ได้รับโล่รางวัลฯ และขอบคุณ 8 หน่วยงานที่มีจิตใจสาธารณะและให้การสนับสนุนการทำงานขับเคลื่อนงานรณรงค์เกิดเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม  ในฐานะของการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองในจังหวัดลำพูน ด้วยมีความตั้งใจและพร้อมให้ความร่วมมือ รณรงค์สร้างให้เกิดความตระหนัก เกิดเป็นความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่างๆ ออกมาร่วมกันสร้างสรรค์สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องเยาวชน ให้ออกห่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา โดยอาจารย์กนิษฐา ไทยกล้า นักสถิติเชี่ยวชาญ นำเสนอว่า แนวโน้มปริมาณที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีนักดื่มหน้าใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้หญิงมีแนวโน้มมากขึ้น เมื่อพิจารณารายภาคพบว่า ภาคเหนือเป็นภาคที่มีคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าภาคอื่นๆ  ทั้งมีนักดื่มหน้าใหม่ และมีนักดื่มหนัก ประเด็นที่น่าเป็นห่วงของภาคเหนือคือมีการดื่มสุราเถื่อน เหล้าต้ม เหล้าชุมชนและเหล้าที่ไม่เสียภาษีจำนวนมาก และแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสูงขึ้น ทั้งจากนโยบายสุราเสรี และการทำการตลาดของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรสชาติหลากหลาย และมีผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบให้เลือกมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการขยายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะ social media ต่างๆ ความง่ายในการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่าน social media จะทำให้มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น

นายณธีระ วัชรปราณี  ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ทางเครือข่ายจัดเวทีสรุปบทเรียนปัญหา ในภาคเหนือ ซึ่งมีการสรุปสถิติทุกปี สาเหตุสำคัญมาจากทั้งวิถีชีวิต มีการผลิตสุราเองชมชน ทั้งมีใบอนุญาตและไม่มี เกิดปัญหามากมายจากการซื้อหาได้ง่าย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย โดยคนในภาคเหนือเราดื่มสุรามากที่สุด เด็กก็ดื่มมากขึ้น  มีการใช้เหล้าเข้ามาในงานบุญต่างๆ เราพยายามรณรงค์ให้เขากลับมาใช้ชีวิตปกติ จากที่ติดเหล้า ก็เลิกกินกลับมาทำอาชีพปกติสามารถผลิตสินค้าตนเองขายมีรายได้สู๔ครอบครัวได้

จากนโยบายส่งเสริมผลิตเหล้า อาจจะส่งผลดีด้านเศรษฐกิจได้มีรายมากขึ้นแต่ก็ต้องวัดประโยชน์กับที่เสียด้วย การใช้กฎหมายควบคุมมากขึ้นเข้มแข็งก็จะลดปัญหาได้ แต่การลดความเข้มข้นในการควบคุมเขาก็ทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการกระตุ้นทางสงการโฆษณา มีการเข้าถึงด้วยกระตุ้นและสร้างค่านิยมก็จะทำให้มีการขายมากขึ้น  นโยบายต่างๆที่ออกมาจากรัฐบาลต่อไปควรคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะขณะนี้เยาวชนมีการเข้าถึงได้มาจากการที่มีเสรีมากขึ้นในชุมชนทำให้หาง่ายสะดวกขึ้น ทำให้เด็กเยาวชนเข้าถึงง่ายขึ้น นโยบายต่างๆก็ต้องรอบคอบ ต้องรับฟังฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่าจะได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย

อาจารย์ประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าเด็กเยาวชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอายุที่น้อยลงอายุเฉลี่ย10 -12 ปี ซึ่งเยาวชนมีการรวมกลุ่มกันตามความชอบ กินดื่มกันอย่างสนุกสนาน จนอาจทำให้ขาดการยั้งคิด ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่ง เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายของบ้านเรายังไม่เต็มที่ ไม่ค่อยเด็ดขาดมากนัก จึงทำให้เกิดปัญหาที่ตามมา เช่น ทะเลาะวิวาท หรืออุบัติเหตุ ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้ง่าย

นางสาววีรญา ร้องคำ เครือข่ายเด็กและเยาวชนเชียงราย กล่าวว่า เยาวชนเป็นช่วงชีวิตที่อ่อนไหวง่าย ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูที่ทำให้เยาวชนรู้สึกหว้าเหว่ ซึ่งทำให้เยาวชนเล่น Social Media มากขึ้น ส่งผลต่อการใช้เวลาว่างที่ไม่เกิดประโยชน์ รวมถึงการขาดทักษะชีวิต การหาที่พึงทางใจที่ทำให้เยาวชนถูกหลอกและหลงทางได้ง่าย เด็กๆ มีแนวโน้มถูกหลอก รวมถึงเชื่อและซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางonline ได้ง่ายขึ้น ซึ่งควรให้ความรู้แก่เด็กๆ และเฝ้าระวังการหลอกลวงเด็กๆ รวมถึงเข้าใจและทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ จึงขอร้องให้หน่วยงานและผู้มีอำนาจ หรือกลุ่มทุนต่างๆใส่ใจ ห่วงใยเยาวชน

อาจารย์นพพร.นิลณรงค์ นักวิชาการอิสระ นำเสนอว่าภาครัฐควรมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเช่นการส่งเสริมให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจนำมาซึ่งผลกระทบทางสังคมอื่นๆ ซึ่งภาคส่วนต่างๆ ควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะครอบครัวที่ควรให้ความรู้เรื่องกาละ เทศะ และสถานการณ์ในการดื่มที่เหมาะสมเช่น ควรดื่มเท่าไร  และดื่มแล้วไม่ควรขับเป็นต้น

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน