วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เวลา 06.30 น. ที่โรงเรียนอุดมพัฒนศึกษา อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธีกิจกรรม “เดิน-วิ่ง ข้ามขัวหนองโดก เพื่อการกุศลช่วยเหลือผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง อ.นาหว้า ครั้งที่ 1 โดยมีนายแพทย์จรัญ จันทมัตตุการ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8/ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 นายสมชาย แสนลัง ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมกิจกรรมฯ
นายนพดล พลซื่อ นายอำเภอนาหว้า คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอนาหว้า (พชอ.นาหว้า) กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานมักป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุเกิดจากการพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม กล่าวคือ รับประทานอาหารที่มากเกิดความพอดี และมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ อำเภอนาหว้า โดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.นาหว้า) เล็งเห็นปัญหาและให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกันจัดมหกรรมสุขภาพดีชีวีมีสุข@นาหว้า ในชื่อกิจกรรม “เดิน-วิ่ง ข้ามขัวหนองโดก เพื่อการกุศลช่วยเหลือผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง อำเภอนาหว้า ครั้งที่ 1 ปี 2566 ซึ่งมีกิจกรรมหลัก คือ การเดิน วิ่ง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร บริการตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชน การจัดแสดงนิทรรศการความรู้ด้านสุขภาพ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากเส้นกกตำบลเหล่าพัฒนา กิจกรรมปลูกต้นไม้ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และชมทัศนียภาพหนองโดก และ “ขัวหนองโดก”
การจัดมหกรรมสุขภาพดีชีวีมีสุข@นาหว้า ในกิจกรรม “เดิน-วิ่ง ข้ามขัวหนองโดก เพื่อการกุศลช่วยเหลือผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง อ.นาหว้า ครั้งที่ 1 ปี 2566 ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกกลุ่มวัยให้มีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยเน้น “การสร้างสุขภาพ” มากกว่า “การซ่อมสุขภาพ” รวมทั้งจัดหาทุนเพื่อช่วยเหบือผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง และทุนการศึกษาแก่นักเรียน พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์อันโดดเด่นของหัตถกรรมจากเส้นกก เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในชุมชน เกิดจิตสำนึกต่อการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 1,200 คน
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: