ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง ( ศบส.) เร่งศึกษาวิจัยและเพาะขยายพันธุ์โคพื้นเมืองสายพันธุ์วัวชนแท้ภาคใต้ ทั้งแบบผสมเทียมและเตรียมย้ายฝากตัวอ่อน เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูสายพันธุ์โคเนื้อภาคใต้ รักษาเอาไว้ให้คงอยู่กับชาวภาคใต้ เพราะวัวพื้นเมืองสายพันธุ์วัวชนแท้ภาคใต้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ทั้งตอบสนองกีฬาชนวัวที่นิยมในภาคใต้ และเกษตรกรนิยมวัวเลี้ยงเพื่อจำหน่ายโคเนื้อ ก่อนจะกลายพันธุ์เป็นวัวพันทาง (วัวลูกผสม หรือไม่แท้) เลี้ยงง่ายให้ลูกปีละตัว กินหญ้าน้อย ราคาดี และพร้อมแบ่งให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ หรือขุนเป็นวัวชนซึ่งล่าสุด วัวชนของศูนย์บางตัวราคาพุ่งถึง 2 ล้านบาท
ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง ( ศบส.) กรมปศุสัตว์ ต.วังคีรี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ขณะนี้มีการเพาะขยายพันธุ์และอนุรักษ์วัวชนสายพันธุ์พื้นเมืองภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันกีฬาชนโคกลายเป็นกีฬาที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ โดยในวันนี้ทางศูนย์ฯเปิดให้มีการประมูลโคพันธุ์พื้นเมือง (โคชน) รวมทั้งหมด 39 ตัว ทั้งแม่พันธุ์คัดออก จำนวน 7 ตัว โคพันธุ์คัดออก จำนวน 7 ตัว และโคคัดออก จำนวน 25 ตัว ปรากฏว่ามีเกษตรกรที่เฝ้าติดตามข่าวสารการเปิดประมูลโคพันธุ์พื้นเมือง (โคชน) ของศูนย์ฯทั้งจากในตำบล ต่างตำบล รวมทั้งต่างอำเภอ และจากต่างจังหวัด ซึ่งเป็นทั้งเกษตรกรทั่วไป และค่ายวัวชนต่างๆ จากจังหวัดใกล้เคียง เดินทางมาร่วมประมูลกันคึกคัก โดยเริ่มจากราคากลางของแต่ละตัว หลังจากนั้นก็เปิดให้ประมูล โดยเริ่มต้นราคาบวกครั้งละ 100 บาทอย่างต่ำ
นายอนันต์ ชูช่วย เกษตรกรเลี้ยงวัว ในพื้นที่หมู่ 4 ต.บางกุ้ง อ.ห้วยยอด ซึ่งเป็นตำบลใกล้เคียง บอกว่า ตนเองมาประมูลวัวทุกครั้งที่ศูนย์ฯเปิดให้มีการประมูล ได้เท่าไหร่ก็เอาหมด แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทัน เพราะทุกคนก็แย่งกันประมูล ซึ่งจะได้ราคาที่ถูกกว่าการไปซื้อจากที่อื่น และได้วัวพันธุ์แท้ เลี้ยงง่าย ส่วนใหญ่ตนเองจะประมูลตัวเมีย ทั้งแม่ และลูก เพื่อเอาไปเลี้ยงทำแม่พันธุ์ให้ออกลูกไว้เลี้ยงขาย บางคนก็ประมูลเอาไปขุนทำวัวชน
นายไพบูลย์ ศรีสิทธิยานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง บอกว่า โคพื้นเมืองที่ศูนย์มีรวมกันกว่า 250 ตัว มีแม่พันธุ์ 100 กว่าตัว ผลิตลูกได้ปีละเป็นร้อยตัวเช่นกัน เพราะแม่โคพื้นเมืองจะผลิตลูกได้ปีละตัว ซึ่งต่อปีถือว่าผลิตได้มากเกินเป้าที่ราชการให้เลี้ยง โดยทางวิชาการต้องการแค่ 75% แต่ของศูนย์ผลิตได้เป็น 100% ทำให้ทางศูนย์ต้องคัดออกโดยการเปิดประมูล ทั้งสายพันธุ์ บวกราคาพันธุ์คัดออก ขายคัดทิ้ง แม่ต้องการปลด แต่คงไว้สายพันธุ์วัวชนแท้ที่ผลิตโดยส่วนหนึ่งศูนย์ฯ ต้องการกระจายพันธุ์ให้เกษตรกรเอาไปเลี้ยง ทำพ่อพันธุ์ ทำแม่พันธุ์ รวมทั้งแม่พันธุ์ที่คัดออกก็ยังสามารถเอาไปเลี้ยงผลิตลูกต่อได้อีก ส่วนตัวผู้เอาไปขุนทำวัวชน ต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้มาก ซึ่งทราบว่าบางตัวโคชนจากศูนย์ฯ ซึ่งค่อนข้างมีชื่อเสียง บางตัวราคาพุ่งสูงถึง 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นการแบ่งปันให้เกษตรกรไปเลี้ยงเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย โดยเกษตรกรจากในพื้นตำบล ในอำเภอใกล้เคียง และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จากจ.นครศรีฯ , จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมของวัวชน ให้ความสนใจมาประมูลเอาไป ส่วนหนึ่งนำไปทำวัวชน ทำพ่อพันธุ์ ส่วนตัวเมียนำไปทำแม่พันธุ์ต่อไป ซึ่งข้อดีของโคพันธุ์พื้นเมืองคือ ให้ลูก 100% ปีละตัว กินหญ้าน้อย การจับสัตว์เก่ง ผสมพันธุ์ง่าย ถ้าเลี้ยงวัวสายพันธุ์อื่นกินหญ้ามากประมาณ 10%ของน้ำหนักตัว ผสมพันธุ์ยาก จับสัตว์ไม่เก่ง จะมีลูก 3 ปี 2 ตัว ซึ่งขณะนี้โคพื้นเมืองสายพันธุ์โคชนของศูนย์กระจายไปหลายจังหวัด ทั้งตรัง สตูล พัทลุง นครศรีฯ แต่จังหวัดตรังเลี้ยงกันมากและมีชื่อเสียงมาก
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ โคพื้นเมืองของศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรังทำในรูปแบบการอนุรักษ์ และพัฒนาสายพันธุ์ โดยทิศทางการพัฒนาก็เน้นในเรื่องการเป็นวัวชน เพื่อเพิ่มมูลค่า เพราะว่าหากจะคิดที่จะแข่งขัน เพื่อการค้าคงสู้สายพันธุ์อื่นไม่ได้ จึงทำวัวชนเป็นหลัก เพื่อรักษาสายพันธุ์โคชนแท้ของภาคใต้เอาไว้ ก่อนจะสูญหายไปกลายเป็นโคพันทาง ( ลูกผสม หรือไม่แท้) ซึ่งนอกจากการพัฒนาพันธุ์แล้วยังได้ทำการวิจัยในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ พันธุ์สัตว์ และมีการปรับปรุงพันธุ์ โดยการนำวิธีการผสมเทียมเข้ามาใช้ ด้วยการไปขอน้ำเชื้อโคชนสายพันธุ์ดีๆ จากเกษตรกร เพื่อนำมาผสมเทียม เคยเก็บน้ำเชื้อได้สูงสุดถึง 25 พ่อ คัดมา 15 พ่อ ผสมเทียมได้ลูกมา 10 กว่าตัว ซึ่งเกษตรกรใครที่สนใจน้ำเชื้อโคชน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ และที่จะทำต่อไปคือ การย้ายฝากตัวอ่อน ซึ่งการฝากตัวอ่อนนี้ ส่วนหนึ่งจะใช้ในการฝากในวัวของศูนย์เอง และส่วนหนึ่งให้ราชการเก็บไว้เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ ซึ่งจะคัดโคพันธุ์ดี พันธุ์พื้นเมืองเน้นหนักทางโคชน ซึ่งลูกเบอร์ของศูนย์ฯจะติดคำว่า TR ตัวย่อของศูนย์ตรัง จะกลายเป็นเบอร์ที่มูลค่ามีราคา แต่ละศูนย์จะมีเบอร์ของตัวเอง มีตัวเลขรันนิ่งแต่ละรุ่นแต่ละปี นอกจากนั้น ทางศูนย์ฯยังผลิตหญ้าสำหรับเลี้ยงโค ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการทำแปลงหญ้าสามารถมาขอพันธุ์หญ้าได้ ทางศูนย์พร้อมสนับสนุน โดยทางศูนย์ฯทั้งอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์สัตว์ ยังพัฒนาด้านวิชาการ และพัฒนาคน เพราะเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาสัตวบาลปีละเกือบร้อยคน แต่ละรุ่นที่มา เติมเต็มความเป็นนักสัตวบาลให้แก่นักศึกษา โดยวิชาการเก็บเกี่ยวจากมหาวิทยาลัย แต่ทักษะต้องมาเอาจากศูนย์
อย่างไรก็ตาม โคพื้นเมือง (โคชน) ภาคใต้มีผลิตที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ รวม 4 แห่ง ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง นครศรีฯ และอ.เทพา จ.สงขลา เพื่อการอนุรักษ์และรักษาสายพันธุ์ ไม่ให้สูญหายสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร สำหรับศูนย์วิจัยฯตรัง ตอนนี้มีสายพันธุ์ของเราเองด้วย จากพ่อพันธุ์ก็คัดไว้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ 3-4 ตัว ที่จะเอาขึ้นทดแทน แต่ส่วนหนึ่งก็เอาไว้แลกเปลี่ยนกันระหว่างศูนย์ เพราะเมื่อเห็นว่าแต่ละศูนย์ทำท่าเลือดจะชิด ก็แลกเปลี่ยนกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: