X

‘มนุษย์กบ’ ดำน้ำฟื้นฟูท้องทะเลลึก!! ที่เกาะในตำนาน

นราธิวาส-นาวิกโยธินใต้สนธิกำลังร่วม ศรชล.นราฯ ดำน้ำอนุรักษ์-ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติกลางทะเลลึก ที่เกาะในตำนาน ‘จือลาปี’

วันนี้ (15 กรกฎาคม 2566) เวลา 07.30 น.หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ /หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ นาวาเอก พงษ์ศักดิ์ ทองไสย ผบ.กรม ร.3 ฯ/ผบ.ฉก.นย.ทร./ผบ.ฉก.นย.ภต.จัดกิจกรรม “ดำน้ำอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล” บริเวณเกาะจือลาปี หรือเกาะเล่าปี่ บ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการปฏิบัติทางน้ำครั้งสำคัญในพื้นที่


โดยทางด้าน นาวาเอก กาจ บุญวิทยา รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัดนราธิวาส ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดนราธิวาส (ศรชล.จ.นราธิวาส) พร้อมด้วย นาวาเอก ชลวิทย์ พฤทธพงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดปัตตานี (ศรชล.จ.ปัตตานี) ได้นำคณะสื่อมวลชนจำนวน 10 คน ไปลงเรือของตำรวจน้ำนราธิวาส แล่นไปกลางทะเล ระยะทางจากฝั่ง จ.นราธิวาสถึงเป้าหมายประมาณ 15 ไมล์ทะเลหรือ 27.4 กิโลเมตร เพื่อให้สื่อมวลชนได้บันทึกภาพความสวยงามของท้องทะเล จ.นราธิวาส ที่ทอดยาวไปถึงอำเภอไม้แก่นและอำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี ก่อนจะไปสมทบกับชุดประดาน้ำหรือมนุษย์กบ ของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ภาคใต้ กองทัพเรือ (ค่ายจุฬาภรณ์) กว่า 50 นาย ที่ใช้เรือยางท้องอ่อนพร้อมติดเครื่องยนต์ ขนาด 8-10 คน กว่า 40 แรงม้า จำนวน 5 ลำ โดยเป้าหมายคือ บริเวณเกาะจือลาปี หรือเกาะเล่าปี่ บ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี


สำหรับภารกิจกว่าครึ่งวันในครั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ, ศรชล.จังหวัดนราธิวาส, ศรชล.จังหวัดปัตตานี, ตำรวจน้ำนราธิวาส, สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ปัตตานี, ชุมชนประมงชายฝั่งบ้านทอน ชุมชนประมงชายฝั่งดอนทราย และชมรมดำน้ำสมิหลาร่วมกันดำน้ำตัดอวน และเก็บขยะบริเวณรายรอบเกาะจือลาปี รวมทั้งใต้ท้องทะเล ความลึกประมาณ 20 ฟุต ซึ่งจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่พบขยะจำพวก รอกและอวน ที่หลงเหลือจากการทำประมง ถูกกระแสน้ำพัดเข้ามาติดตามแนวเกาะ นอกจากนี้ก็ยังมีเศษพลาสติกจำนวนมาก ที่ถูกขว้างทิ้งหรือร่วงหล่นจากเรือต่างๆ ที่ออกสู่ท้องทะเล


ทางด้าน นาวาเอก กาจ บุญวิทยา รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ขยะเหล่านี้นี้คือตัวการสำคัญที่ทำให้ธรรมชาติใต้ท้องทะเลเช่น ปะการัง ดอกไม้ทะเล ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ยิ่งสะสมในปริมาณมากๆ ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย และนี่ก็เป็นเหตุผลทำให้เจ้าหน้าที่รวมถึงหน่วยงานที่มีความรักในท้องทะเล ได้มาร่วมกันทำงานเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล เป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเล และเพิ่มคุณค่าด้านการท่องเที่ยวทางทะเลได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลให้คงความสวยงามตลอดไป


สำหรับ ‘เกาะจือลาปี’ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘เกาะเล่าปี่’ เป็นเรื่องเล่าที่ยาวนานของชาวบ้านที่มีอาชีพทำการประมงถึงความ ‘อกตัญญู’ ของลูกกับบุพการี ว่า มีหมู่บ้านหนึ่งที่เรียกว่าหมู่บ้านชาวทะเล จะมีครอบครัวหนึ่ง มีฐานะยากจน อยู่กัน 2 คนแม่ลูก ลูกมีอาชีพหาของทะเลขายช่วยจุนเจือทางบ้าน วันหนึ่งลูกมีความคิดว่าอยากทำอะไรที่สามารถช่วยเหลือครอบครัวให้ได้กินดีอยู่ดี เลยปรึกษาหารือกับแม่ว่า ลูกจะขอออกไปหางานทำ แม่ก็ถามว่า จะออกไปหางานทำ จะทำงานที่ไหน ลูกบอกว่า จะเดินทางไปกับพ่อค้าที่มาค้าขายในเมืองนี้ด้วยเรือสำเภา


ดังนั้นแม่ก็อนุญาตให้ไป ลูกก็เดินทางไปกับเรือสำเภาสินค้า ไปค้าขายระหว่างประเทศ เพราะการค้าขายสมัยก่อน เขาจะล่องเรือสำเภา ลูกได้เดินทางไปเป็นระยะเวลานาน ส่วนผู้เป็นแม่ เมื่อลูกจากไป ด้วยความรักความเป็นห่วงลูก ก็จะเดินไปชายหาดทุกวันเพื่อมองหาลูก ว่าเมื่อไหร่ลูกจะกลับมา วันแล้ววันเล่าเป็นระยะเวลา 10 ปี ลูกก็ไม่กลับมา อยู่ ๆเหมือนโชคเข้าข้างแม่ ลูกระลึกถึงแม่ จึงได้เดินทางกลับมาเยี่ยมแม่พร้อมกับภรรยาที่เป็นลูกสาวของพ่อค้าที่มีฐานะร่ำรวย แต่ด้วยระยะเวลานานที่ไม่เจอ ลูกไม่สามารถจำแม่ได้ เพราะแม่แก่ขึ้นมาก ลูกก็จำไม่ได้ว่าเป็นแม่และด้วยแม่มีฐานะยากจน ลูกไม่ยอมรับว่าบุคคลนี้เป็นแม่ แม่จะเข้าไปกอดลูก เพราะเห็นลูกกลับมา พอเข้าไปกอด ลูกก็ผลักไสไล่ส่งไม่ให้มากอด ส่วนภรรยาของลูกชายเองนั้นก็นึกรังเกียจแม่เช่นเดียวกัน จึงชวนกันกลับ แม่รู้สึกโกรธจึงสาปแช่งลูกว่าหากเรือสำเภาของลูกลำนี้ล่องไป


กลางทะเล ขอให้เกิดอับปางลงกลางทะเล ด้วยคำสาปแช่งของแม่ พอเรือล่องไปถึงกลางทะเลก็เกิดพายุใหญ่ ทำให้เรือของลูกล่มคว่ำลงเสียชีวิตทั้งครอบครัว ชาวบ้านเชื่อว่า ลูกสาวหรือหลานพอเรือล่มถึงแก่ชีวิต ก็เกิดเป็นนกนางแอ่นหรือนกนางนวล นี่อาจเป็นการลงโทษของพระเจ้าหรือเป็นไปตามการสาปแช่งของผู้เป็นแม่ พอเกิดอับปางแล้ว หลังจากนั้นเรืออับปางได้โผล่ขึ้นมาเป็นเกาะ ก็คือเกาะ ‘จือลาปี’ ในปัจจุบัน


โดยมีความเชื่อของชาวประมงว่า ในช่วงมรสุมถ้าหากเกิดฟ้าร้องหรือเสียงร้องจากทะเล นั่นคือเสียงร้องของลูกที่ขอความช่วยเหลือจากแม่ ถ้าเมื่อไหร่ทางฝั่งบกหรือทางภูเขามีเสียงร้อง นั่นคือเสียงร้องของแม่ ถ้าเมื่อไหร่ที่ฝั่งลูกร้องแล้วแม่ขานรับ หรือฝั่งแม่ร้องแล้วลูกขานรับ ก็จะเกิดเหตุการณ์ เกิดมรสุมใหญ่ เกิดน้ำท่วมใหญ่ เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่ออกทะเล และปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน