จังหวัดระนอง แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2566
นายบุญชัย สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง ได้ติดตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่1(37/2566) เรื่องคลื่นลมแรงและฝนตกหนัก โดยในช่วงวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2566 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ของบริเวณจังหวัดระนองและจังหวัดพังงา
ข่าวน่าสนใจ:
ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ลมกระโชกแรง และดินถล่ม ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันในระหว่างวันที่ 21-27 กรกฎาคม 2566 ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ และขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งระมัดระวังคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และเฝ้าระวังจากลมกระโชกแรง ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวัง เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหา ระหว่างวันที่ 21-27 กรกฎาคม 2566 โดยแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย วาตภัย ดินถล่มและเฝ้าระวังอันตรายจากลมกระโชกแรงและคลื่นลมแรง
ให้ติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนของทางราชการอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับประชาชนที่สัญจรบนท้องถนน ขอให้ระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทด้วยเช่นกัน ให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระนอง ตำรวจน้ำระนอง และศูนย์ PIPO จังหวัดระนอง ออกลาดตระเวนและประกาศเตือนให้ผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือ หรือผู้ประกอบการเดินเรือ เพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเข้มงวดการใช้อุปกรณ์ เสื้อชูชีพกับผู้โดยสาร และให้ติดตามประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง แขวงทางหลวงระนอง และแขวงทางหลวงชนบทระนอง ให้สำรวจต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา ที่ไม่แข็งแรง เส้นทางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ ท่อลอด คอสะพาน สิ่งกีดขวางทางน้ำ สิ่งปฏิกูลบริเวณจุดเสี่ยงน้ำท่วม และดินเลือนไหลในเขตทางรับผิดชอบ ให้สามารถระบายน้ำได้ดี ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรไป-มา ของประชาชน และให้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีน้ำตก ถ้ำ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ถ้าสถานการณ์วิกฤติให้ปิดหรือห้ามเข้าโดย
รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวต่อว่า สำหรับอำเภอให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และขอให้เตรียมความพร้อมทรัพยากรด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น สามารถประสานการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ และแผนเผชิญเหตุป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางอพยพ พื้นที่รองรับการอพยพ การสื่อสาร และขอให้กำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำด้วย หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ให้รายงานไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนองทราบ และประสานความช่วยเหลือได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 7780 -0190- 1 .
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: