สระบุรี – บพท. สานพลังพหุภาคี หนุนสร้างสระบุรีเป็นเมืองน่าอยู่แห่งอนาคต ภายใต้แนวคิด ‘สระบุรีฟู้ดวัลเลย์’ แบบ Net Zero หวังปลุกสำนึกรักบ้านเกิด สร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร
นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัย บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า แกนหลักที่เป็นหัวใจของโครงการวิจัย คือ การพัฒนาจังหวัดสระบุรี ให้เป็นหุบเขาแห่งอาหาร หรือ ‘สระบุรีฟู้ดวัลเลย์’ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับรายได้ของเกษตรกร ไปพร้อม ๆ กับการสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ประเทศ
“แรงบันดาลใจในการทำวิจัยเรื่องนี้ มุ่งค้นหาคำตอบแก้โจทย์ของเกษตรกรที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของจังหวัด ที่ขายผลผลิตไม่ได้ราคา เพื่อทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม และมีความมั่นคงด้านรายได้ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกันของบริบททางภูมินิเวศน์ ภูมิสังคม ตลอดจนวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่”
ข่าวน่าสนใจ:
- พิธีมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ตรัง ทดลองล้อมคอกหญ้าทะเล เร่งหาทางออกฟื้นฟูหญ้าทะเล ภาระกิจด่วนทำแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่กับความอยู่รอดของพะยูน
- ลำพูน บุกจับบุหรี่ไฟฟ้าล็อตใหญ่ ทำเนียนปลอมเป็นไรเดอร์ แต่วิ่งส่งบุหรี่ไฟฟ้า
- จนมุมเพราะไก่ชน!! ตำรวจบางละมุงวางแผนเหนือเมฆ หลอกแก๊งค์ค้ายานรกมาซื้อไก่ชน ก่อนตามรวบยกแก๊งค์ ยึดยาบ้าแสนเม็ด - ไอซ์ 1 กก. พร้อมรถ 2 คัน…
นายนพดล อธิบายต่อว่า กระบวนการขึ้นรูปโครงการวิจัยสระบุรีพัฒนาเมืองที่มีแนวคิดสระบุรีฟู้ดวัลเลย์เป็นแกนกลาง เป็นผลพวงจากการพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกับหลายภาคีในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น ประชาสังคม รวมทั้งนักวิชาการ จนได้ข้อสรุปร่วมกัน เนื่องจากจังหวัดสระบุรีมีจุดแข็งที่โดดเด่นถึง 3 ประการที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเมือง ตามแนวคิดสระบุรีฟู้ดวัลเลย์ ได้แก่
1.สระบุรี เป็นฮับโลจิสติกส์ เป็นศูนย์กลางขนส่งที่เชื่อมต่อโดยเฉพาะระบบราง
2.เกษตรกร ในจังหวัดสระบุรีมีผลผลิตทางด้านการเกษตรที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ โคนม ไก่ ซึ่งเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร
3.จังหวัดสระบุรี มีศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่แก่งคอย มีองค์ความรู้ที่สามารถสร้างประโยชน์ในการยกระดับหรือสร้างนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตการเกษตร
“กลไกกระบวนการพัฒนาแนวคิดสระบุรีฟู้ดวัลเลย์ให้เป็นรูปธรรม จะดำเนินการโดยสร้างห่วงโซ่คุณค่าขึ้นมา ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แก่งคอย กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมอยู่ในห่วงโซ่ โดยมุ่งเน้นให้ห่วงโซ่นี้เป็นห่วงโซ่ที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมอาหาร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Net Zero และเป็นห่วงโซ่ที่จะเหนี่ยวนำให้คนสระบุรีกลับมาร่วมกันพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน”
หัวหน้าโครงการวิจัย บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ให้ความสำคัญกับโครงการสระบุรีฟู้ดวัลเลย์อย่างมาก ถึงกับบรรจุเป็นแผนยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรของจังหวัด ขณะเดียวกัน ภาคีภาคเอกชนทั้งหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ชมรมธนาคารในจังหวัด รวมทั้งเทศบาลเมืองสระบุรี เทศบาลเมืองแก่งคอย ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีขับเคลื่อนโครงการ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นคือการทำข้อมูลศึกษาและวิจัยเพื่อหาว่าทิศทางหรือสิ่งที่จะทำในอนาคต ส่วนขั้นตอนที่สองคือรวบรวมกลุ่มคนที่มาเป็น Stakeholder คือ ผู้ประกอบการทางด้านอาหาร และกลุ่มเกษตรกรที่อยากจะเป็น Smart Farmer ในอนาคต โดยสองกลุ่มนี้มีจำนวนรวมประมาณ 30 คน
“เงื่อนไขสำคัญที่เป็นปัจจัยความสำเร็จของสระบุรีฟู้ดวัลเลย์ อยู่ที่การจัดหาพื้นที่ขนาดประมาณ 5,000 ไร่ ในทำเลที่สะดวกในการเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายคมนาคม และมีแหล่งน้ำสำรองที่เพียงพอสำหรับรองรับการเกิดขึ้นของสระบุรีฟู้ดวัลเลย์ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและออกแบบระบบสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน”
นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการคือ 1.ความอยู่ดีกินดีของประชาชน 2.ความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นปัจจุบันของโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลขององค์กรปกครองท้องถิ่น หรือ City Data Platform (CDP) 3.สุขภาวะและสิ่งแวดล้อม 4.การศึกษาที่สอดคล้อง และเท่าทันกับบริบทสังคม และบริบทของโลกที่แปรเปลี่ยนไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: