กรุงเทพฯ – ประธานรัฐสภา สั่งทีมกฎหมายประชุม พร้อมรอถกวิป 3 ฝ่าย และประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 3 หรือไม่
วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ที่รัฐสภา ภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่ประชุมรัฐสภาลงมติข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เมื่อวันที่ 19 ก.ค. มิให้เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซ้ำ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และขอให้เลื่อนการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 27 ก.ค. เพื่อโหวตนายกฯ รอบ 3 ออกไปก่อน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ระบุว่า ต้องให้ฝ่ายกฎหมายประชุมกัน ในวันนี้ (24 ก.ค.) เพื่อสรุปผลมาแจ้งให้ทราบ จากนั้น จะนำเรื่องไปหารือกับคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทั้ง 3 ฝ่าย ในวันที่ 26 ก.ค.ต่อไป รวมถึงต้องฟังผลการหารือของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล มาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งวันที่ 25 ก.ค.นี้ อาจจะชี้แจงในรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมทีมกฎหมายรัฐสภา ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้เลื่อนการประชุมโหวตนายกฯ รอบ 3 ออกไปหรือไม่ โดยจะขอรอฟังความเห็น จากที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายก่อน
ข่าวน่าสนใจ:
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- "มิชลินไกด์" เผย 20 ร้านใหม่ และ156 ร้านที่ได้รับรางวัล"บิบ กูร์มองด์" 2568
- "เบิร์ด ธงไชย" ศิลปินแห่งชาติ ร่วมสืบสานนาฏศิลป์สยาม ชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
ทั้งนี้ มีสมาชิกรัฐสภาและประชาชน ยื่นคำร้องเรียนกรณีดังกล่าวถึง 17 คำร้องเรียน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกระทำของรัฐสภา ในการลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น ‘ญัตติ’ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 นั้น
เป็นการนำข้อบังคับการประชุม ไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามมาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272
การกระทำของรัฐสภาดังกล่าว จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรงถือว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
เพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ให้รัฐสภา ‘รอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคล ให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา’
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: