ตรัง- ฮือฮา. พบพระหินอ่อนจากประเทศพม่า ถูกเก็บไว้ในห้องเก็บของวัดทุ่งค่าย เชื่ออายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี เชื่อเป็นนิมิตรหมายที่ดีรับเทศกาลเข้าพรรษาให้ญาติโยมได้เข้ากราบสักการะบูชา ขอพรช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
ที่วัดชัยภูมิสถิตย์ หรือวัดทุ่งค่าย หมู่ 2 ต.ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง พระปลัดอาทร เตชปัญโญ พระลูกวัด พบพระพุทธรูปสีขาวนวลทั้งองค์ ถูกเก็บไว้ภายในห้องเก็บของวัด โดยที่ไม่เคยมีใครเคยพบเห็นมาก่อน จากนั้นจึงแจ้งไปยังผู้รู้ได้เดินทางมาตรวจสอบ และยกมาวางไว้ที่ศาลาโรงธรรม พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีขาวนวลทั้งองค์ ปางมารวิชัย พระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี หน้าตักกว้างประมาณ 19 นิ้ว สูงกว่า 30 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 90 กก. อายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี เชื่อเป็นนิมิตรหมายที่ดีรับเทศกาลเข้าพรรษาให้ญาติโยมได้เข้ากราบสักการะบูชา ขอพรช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
นายจวน ศิริพันธ์ อดีต ผอ.โรงเรียนวัดนิกรรังสฤษฎ์ บอกว่า ไม่ทราบว่าชื่อพระอะไร แต่พอจะทราบว่าเป็นพระที่มาจากประเทศพม่า และทำจากหินอ่อนทั้งองค์ ครั้งหนึ่งที่ตนเองเคยไปประเทศอินเดีย เพื่อเปิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ปรากฎว่าไปพบพระพุทธรูปแบบนี้ ตนมีความคิดอยากจะนำกลับประเทศไทย บังเอิญว่าท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารขณะนั้น ท่านไปประเทศอินเดียด้วย ตนจึงเสนอท่านว่า อยากนำพระพุทธรูปนี้นำกลับประเทศไทย ท่านบอกว่า อย่านำกลับไปเลย ประเทศเรามีเยอะแยะ เพราะเขาทำที่ประเทศพม่า และจะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายด้วย เพราะเป็นวัตถุโบราณไม่สามารถนำกลับประเทศเราได้ ตนก็เลยไม่ได้นำกลับมา ก็เพิ่งมาพบเจอที่วัดทุ่งค่ายแห่งนี้ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้เคยประดิษฐ์ฐานอยู่ที่วัดนิกรรังสฤษฏ์ ความเป็นมาจึงเข้าใจว่า คงจะมีการนำเข้าประเทศไทยมาสมัยพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ และอาจจะมีคนนำถวายเจ้าอาวาสวัดนิกรรังสฤษฏ์ หรือไม่ก็มี คุณย่าพัด ณ พัทลุง ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดนิกรรังสฤษฏ์ แต่ตนจำปี พ.ศ.ไม่ได้ ต้องไปเปิดประวัติของวัดนิกรฯ แต่จำได้ว่า คุณย่าพัด ณ พัทลุง เป็นภรรยาของหลวงศักดิ์ นำพระพุทธรูปหินอ่อน มาถวาย 2 องค์ เป็นพระพุทธรูปหินอ่อนองค์ยืน 1 องค์ ซึ่งขณะนี้ก็ยังเก็บรักษาไว้ในกุฏิที่วัดนิกรรังสฤษฏ์ และองค์นั่งคือ องค์นี้อีก 1 องค์ ที่ขณะนี้ถูกเก็บรักษาอยู่ที่นี่ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าจากวัดนิกรฯ มาอยู่ที่วัดทุ่งค่ายแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อใด เพราะตนก็มาทราบตอนนี้เช่นกันจึงเดินทางมาดู ทั้งนี้ ถ้าพูดถึงพระพุทธรูปองค์นี้ ในด้านความขลัง หรือความศักดิ์สิทธิด้านใด ยังไม่ปรากฏเหตุการณ์ใดๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ตั้งแต่ได้มาก็มีการเก็บรักษาไว้มิดชิด ประชาชนทั่วไปไม่มีคนทราบข่าวคราว ไม่ได้มีการเปิดให้คนเข้าไปบูชาขอพร เพราะคงกลัวหาย จึงเก็บไว้มิดชิดทำให้ผู้คนไม่ทราบ ซึ่งพระองค์นี้คล้ายๆกับ “พระอุปคุต” ที่ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ประเทศพม่า หากมีงานพิธีจะนิยมอัญเชิญพระอุปคุตมาเข้าพิธี เพื่อคุ้มครองให้การจัดงานเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ให้มีอุปสรรค์ใดๆ ก็เชื่อว่าพระพุทธรูปหินอ่อนองค์นี้ก็น่าจะมีคุณค่าต่อชาวพม่าในลักษณะเดียวกัน จึงมีการจัดสร้างกันขึ้นมา และยืนยันได้ว่าเป็นพระโบราณเก่าแก่ เป็นวัตถุล้ำค่าที่หาไม่ได้อีกแล้ว และในประเทศพม่าก็เลิกทำแล้วเช่นกัน ตีเป็นมูลค่าประเมินราคาไม่ได้ เพราะไม่มีใครเล่นพระแบบนี้ ส่วนใครเป็นคนนำมาที่วัดทุ่งค่าย มาได้อย่างไร ก็ไม่ทราบได้ แต่เชื่อว่าคงอัญเชิญมาสมัย “หลวงพ่อน่วม” อดีตเจ้าอาวาส เมื่อประมาณ 70 -80 ปีก่อน แต่ถูกเก็บเอาไว้ในห้องเก็บของอย่างมิดชิด คงกลัวถูกขโมย เพราะที่วัดทุ่งค่าย ไม่มีเจ้าอาวาสวัดต่อเนื่อง จึงขาดคนดูแลและไม่มีคนเห็นคุณค่าและความสำคัญของพระพุทธรูป จึงไม่ได้นำออกมาตั้งให้ญาติโยมได้บูชา เมื่อก่อนวัดทางภาคใต้มีหลายวัด เช่น จ.ตรัง จะมีที่วัดนิกรฯ วัดนางประหลาด อ.นาโยง แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่มีแล้ว ถ้าคนที่รู้จักจะรู้ว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ เป็นวัตถุโบราณ วัดที่มีก็เก็บไว้มิดชิด เอาไว้ในห้อง กลัวหาย ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ญาติโยมได้เห็น เชื่อว่าถ้าคนรู้ หรือทางวัดได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ประชาชนก็จะได้เดินทางมากราบไหว้บูชา คงจะต้องจัดทำพื้นที่จัดเก็บที่ปลอดภัย และให้ประชาชนสามารถมองเห็น มากราบไหว้ ทำบุญได้
ข่าวน่าสนใจ:
- สูญพันธุ์แน่! พะยูนตรัง ตายเพิ่มวันเดียว 2 ตัว ผลผ่าซากพบผอมโซ อ่อนแอจนเพรียงเกาะ เครือข่ายอนุรักษ์ ชี้ เข้าภาวะวิกฤตแล้ว
- "ระยิบระยับไฟล้านดวง"ผู้ว่าฯตรังนำทัพ เนรมิตสนามกีฬาทุ่งแจ้ง สวรรค์แห่งแสง ฉลองรัฐธรรมนูญ-งานกาชาด
- ตรัง สุดอลังการโดรน 500 ลำ บินแปรอักษร-สัญลักษณ์ ผู้ว่าฯตรัง เปิดร้านนาวากาชาดตรัง 2567 อิ่มบุญ-รางวัลเพียบ จัดยิ่งใหญ่ “งานฉลองรัฐธรรมนูญ”…
- ผบก.ภ.จว.ตรัง แถลงด่วน! คดีโจรลักสายไฟอาคารสนามบินตรัง อึ้ง! ลงมือลักนาน 3 เดือน เรื่องเพิ่งแดง พาขายฉ่ำ 29 ครั้ง นน.ทองแดงเกือบครึ่งตัน
ทางด้านพระครูประภาตสิกขกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดประชาบำรุง ปัจจุบันจำพรรษาที่วัดควนไทร อ.ชะอวด จ.นครศรีฯ บอกว่า ตนเองสมัยอยู่ที่วัดประชาบำรุง ต.หนองบ่อ อ.ย่านตาขาว ก็ไปๆ มาวัดทุ่งค่ายบ่อย และบวชมา 50 พรรษา ไม่เคยเห็นพระพุทธรูปองค์นี้มาก่อน เพราะเก็บไว้ในห้องเก็บของ คงกลัวว่าจะมีคนขโมย ทำให้ไม่มีใครพบเห็นมาก่อน เชื่อว่าอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี ตีค่าประเมินราคาไม่ได้ เป็นพระเก่าแก่โบราณ เมื่อได้มาอย่างนี้ขอให้ทางวัดได้ทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์สักครั้งหนึ่ง เพื่อความเป็นสิริมงคล และนำออกมาให้ญาติโยมที่เลื่อมใสศรัทธาได้เข้าวัดมากราบไหว้บูชาขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล เชื่อว่าจะนำมาซึ่งโชคลาภให้กับวัดและญาติโยมที่มากราบไหว้ จะทำให้วัดมีความเจริญยิ่งขึ้น
ทางด้านนายวิชญาณ ขวัญนิมิตร กำนันตำบลทุ่งค่าย บอกว่า ไม่มีใครเคยทราบว่ามีพระพุทธรูปองค์นี้ถูกเก็บไว้ในวัดทุ่งค่าย แต่หลังจากทราบแล้วเช่นนี้ จะหารือกับผู้นำ กรรมการหมู่บ้านว่าจะร่วมกันดำเนินการให้ญาติโยมได้รับทราบว่าเรามีพระพุทธรูปล้ำค่าอยู่ภายในวัด ขอเวลาดำเนินการและจะเร่งประชาสัมพันธ์ต่อไปให้ได้รับรู้โดยทั่วกัน คงจะนิมนต์องค์พระมาทำพิธีพุทธาภิเษกอีกสักครั้ง เพื่อให้ชาวบ้านในเขตบริการของวัดได้รับรู้โดยทั่วกันจะได้เข้ามาสักการะบูชา
นอกจากนั้น ภายในวัดชัยภูมิสถิตย์ หรือวัดทุ่งค่าย ยังมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เรียกว่า “องค์หลวงพ่อโต” ที่ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนนิยมเดินทางมากราบไหว้ขอพร ขอโชคลาภ บนบานศาลกล่าว ซึ่งเป็นองค์พระที่ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางขอพรไม่ขาดสาย และเมื่อประสบความสำเร็จก็เดินทางมาแก้บนกันต่อเนื่องเช่นกัน และจากวัดได้จัดสร้างพระอุโบสถหลังสีขาว สวยงามสำเร็จแล้ว รอเตรียมจัดงานฉลองพระอุโบสถและจัดงานฝังลูกนิมิตร แต่วัดเป็นวัดเล็กๆยังขาดกำลังทรัพย์ในการจัดงาน หากพุทธศาสนิกชนท่านใด อยากเป็นเจ้าภาพงานปิดทองฝังลูกนิมิตและฉลองพระอุโบสถหลังใหม่ และร่วมเป็นเจ้าภาพพิธีพุทธาภิเษก พระหินอ่อน สามารถติดต่อประสานได้ที่นายวิชญาณ ขวัญนิมิตร กำนันตำบลทุ่งค่าย โทรศัพท์ 086 -7411995 และพระปลัดอาทร เตชปัญโญ เบอร์โทรศัพท์ 080 – 8588569
ทั้งนี้ นางสาวสุนทรี สังอยุทธ อดีตหัวหน้าหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตรัง ให้ความเห็นจากภาพข่าวว่า พระพุทธรูปหินอ่อนลักษณะนี้มีอยู่หลายวัดในตรัง นำเข้าจากพม่าในสมัยพระยารัษฎา(คอซิมบี๊) ช่วงเวลาประมาณ 130 ปี โดยมีข้อมูลในหนังสือ “พระพุทธรูปเมืองตรัง”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: