X
ยังไม่ทันออกรวง

ยิ้มไม่ออก ชาวนาถูกขี่คอตั้งแต่ข้าวยังไม่ออกรวง หลังราคาในตลาดโลกพุ่ง

ฉะเชิงเทรา – ยิ้มไม่ออก ชาวนาโอดถูกขี่คอตั้งแต่ข้าวยังไม่ทันได้ออกรวง ทั้งราคาปุ๋ยและยา พ่อค้ารีบปรับเปลี่ยนราคาขายทันที ขณะปัจจัยการผลิตรอบด้านทั้งน้ำมัน ข้าวปลูก ล้วนต่างขยับขึ้นตามเป็นเงา เผยชาวนาแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากราคาข้าวในตลาดโลกที่ผันผวนขยับขึ้นลง อีกทั้งทางโรงสียังขยี้ผู้บริโภคขยับราคาขายข้าวสารเพิ่ม ทั้งที่ยังมีต้นทุนข้าวเปลือกจากฤดูกาลเก่าที่ผ่านมาในราคาคงเดิมอย่างไร้การควบคุมจาก จนท.หน่วยงานรัฐ

ยังไม่ถึงช่วงเก็บเกี่ยว

วันที่ 15 ส.ค.66 เวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายวินัย ใหญ่ผลสุข อายุ 34 ปี ชาวบ้าน ม.2 ต.เกาะไร่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรทำนาบนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ และนายสุชาติ นาคสมบูรณ์ อายุ 55 ปี ชาวนา ม.13 ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ประกอบอาชีพทำนาบนเนื้อที่ 25 ไร่ ที่ได้กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าทางประเทศอินเดีย ไม่สามารถส่งข้าวขายออกสู่ตลาดโลกได้ในปีนี้ เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จากสภาวะภัยแล้งของปรากฎการณ์เอลนีโญ

ยิ้มไม่ออก

ได้ส่งผลทำให้ราคารับซื้อข้าวจากชาวนาในประเทศไทยขณะนี้ ได้มีการขยับตัวในลักษณะขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง และยังไม่หยุดนิ่งว่าราคาจะอยู่ที่ประมาณเท่าใดต่อตัน โดยทางโรงสีกำลังมีการรับซื้อกันอยู่ที่ 11,000-11,500 บาทต่อตัน แต่ต่อไปยังไม่ทราบว่าราคาจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่ถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวนาในบริเวณนี้ โดยในช่วงของการเก็บเกี่ยวเมื่อฤดูกาลที่แล้วในช่วงต้นปี 2566 นั้น ราคาขายข้าวได้ตัน (เกวียน) ละ 8,200 บาท

ยังไม่ได้ขายข้าวราคาใหม่

จากกระแสดังกล่าวได้ทำให้ชาวนาต่างพากันดีใจกันในช่วงแรกๆ ที่ได้ยินข่าว แต่หลังจากมีกระแสออกมายังไม่ทันไรเพียงแค่ไม่กี่วัน เมื่อเดินเข้าไปหาซื้อปุ๋ยใส่นาข้าว กลับพบว่าทางร้านค้าขายปุ๋ยได้มีการปรับราคาจำหน่ายปุ๋ยขึ้นนำหน้าไปแล้ว จากราคาเดิมที่กระสอบละประมาณ 800-900 บาทขึ้นไปอยู่ที่ราคา 1,050-1,100 บาท ทั้งที่เพิ่งมีข่าวเกี่ยวกับราคาข้าวขยับขึ้นมาได้เพียงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เองเท่านั้น

ต้นทุนสูง

นอกจากปุ๋ยแล้วยังมีกลุ่มพวกยาที่ใช้ในนาข้าว รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นไปไม่หยุด จากราคาลิตรละประมาณ 32 บาทขึ้นมาจนเกือบจะถึงลิตรละ 40 บาทอยู่แล้ว จึงทำให้ชาวนาเกิดความรู้สึกว่าแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากราคาข้าวที่ขยับขึ้นนี้เลย เนื่องจากเดิมขายข้าวไปตันละ 8,000 กว่าบาท แต่ต้นทุนยังไม่ขึ้นมากขนาดนี้ ก็ยังพอที่จะได้อยู่บ้างหากผลผลิตออกมาได้ไร่ละไม่ต่ำกว่า 100 ถังหรือ 1 ตันขึ้นไป

น้ำน้อย

แต่เมื่อราคาข้าวขยับขึ้นสูง ต้นทุนพวกปุ๋ย-ยา น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับวิดน้ำ ที่จะต้องมีการสูบน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวไว้โดยตลอด เพราะฝนไม่ตกกลับแพงขึ้นตามมาเป็นเงา ทั้งที่จริงแล้วชาวนายังไม่ได้ประโยชน์อะไรจากกระแสของราคาข้าวที่ขยับตัวแพงขึ้นเลย เพราะยังไม่ถึงช่วงของการเก็บเกี่ยวขายผลผลิต และยังไม่ได้ขายข้าวในราคาใหม่ แต่ต้นทุนการผลิตกลับขึ้นนำหน้าไปรอก่อนแล้ว ก็เท่ากับว่าชาวนาจะไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้นมาเลย

ต้นทุนพุ่งไปรอข้างหน้า

แต่การลงทุนในฤดูกาลนี้กลับแพงขึ้น ซ้ำเติมชาวนาหนักไปกว่าเดิมมาก ถ้าเป็นลักษณะนี้แม้ราคาข้าวจะไม่ขึ้นแต่ราคาต้นทุนเท่าเดิมยังจะดีกว่า เพราะราคาเดิมข้าวเปลือกขายที่ตันละ 8 พันกว่าบาทนั้น ก็ยังพออยู่ได้หากผลผลิตได้ออกมาประมาณ 80-90 ถังต่อไร่ แต่หากราคาต้นทุนแพงนำไปก่อนหน้าแบบนี้แล้ว ชาวนาจะต้องทำผลผลิตให้ได้ไม่น้อยกว่า 100-120 ถังต่อไร่จึงจะพออยู่ได้ หรือทันเท่ากับราคาข้าวของที่ขึ้นนำหน้าไป

ข้าวยังไม่ทันแตกกอ

โดยในเวลานี้แม้แต่ราคาข้าวปลูกก็ยังขยับขึ้นจากถังละ 180 บาท ไปขายกันอยู่ที่ 210 บาทแล้ว จึงต้องรอดูกันที่ผลผลิตว่า ถ้าหากน้ำดีข้าวดีได้ผลผลิตมากถึง 100-120 ถังต่อไร่ขึ้นไปจึงจะพออยู่ได้ โดยต้องไปวัดดวงกันที่ผลผลิต แต่ขณะนี้ไม่มีฝนตกลงมาเลย มีแต่น้ำที่ไหลมาตามลำคลองบ้างเป็นระยะและไม่มากนัก จึงทำให้น้ำไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวไม่แตกกองอกงาม โดยมีบางส่วนยืนต้นตายไปแล้วในจุดที่น้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยงไม่ถึง

น้ำไม่พอหล่อเลี้ยง

สำหรับชาวนาแล้วนั้นไม่มีทางออก ไม่รู้ว่าจะหันไปพึ่งใครหรือหน่วยงานไหนได้บ้าง ในการที่จะเข้าไปควบคุมราคาต้นทุนด้านการผลิตที่ขยับตัวขึ้นราคานำหน้าไปก่อนแล้วแบบนี้ ทั้ง ปุ๋ย ยา และน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อถามทางร้านค้าที่ขายปุ๋ยและยา เขาก็บอกว่าของมันขึ้นก็ต้องขึ้นตามเขา ชาวนาก็ได้แต่พูดอะไรไม่ออก เพราะเป็นประชาชนธรรมดาไม่มีปากเสียงพอที่จะไปเรียกร้องฟ้องอะไรกับใคร จึงต้องปล่อยให้เขาขึ้นไปตามใจชอบ เพราะปุ๋ยยาเราก็ต้องซื้อมาใช้หากไม่ใช้ก็ไม่ได้ผลผลิตตามที่เราต้องการ นายวินัย พร้อมด้วยนายสุชาติ ระบุ

ชาวนายิ้มไม่ออก

ขณะที่นายกิจจา ตุ้มวิจิตร อายุ 45 ปี ชาว ม.2 ต.เกาะไร่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตนทำนาบนเนื้อที่ 49 ไร่ เป็นส่วนของตนเอง 26 ไร่ ส่วนของมารดา 23 ไร่ เวลานี้ราคาต้นทุนการผลิตทุกอย่างต่างพากันปรับขึ้นไปหมดแล้ว แม้แต่ข้าวสารก็ยังขยับขึ้นราคาไปแล้ว ทั้งที่ข้าวเปลือกจากชาวนายังไม่ทันจะได้ขายในราคาใหม่กันเลย แต่คนขายข้าวสารกลับขยับราคาไปขายในราคาแพงถึงถังละ 400 บาทแล้ว หรือตันละ 4 หมื่นบาท จากเดิมที่เคยซื้อกันถังละ 300 กว่าบาท ทั้งที่เป็นข้าวเก่าในโรงสีที่ซื้อมาในราคาถูกเมื่อช่วงฤดูกาลที่แล้ว

น้ำน้อยกว่าทุกปี

แต่นำออกมาขายในราคาแพงกันตอนนี้ ชาวนาจึงเป็นฝ่ายถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด ทั้งที่ขณะนี้บางพื้นที่เพิ่งจะเริ่มมีการลงมือเพาะปลูกกัน และยังไม่ทันจะได้เก็บเกี่ยวข้าวเลย ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาข้าวในตลาดโลกที่ขยับตัวสูงขึ้นนั้น การขยับราคาขายได้แพงขึ้นก็น่าจะดีกว่าไม่ขยับขึ้น แต่คาดว่าในปีนี้ผลผลิตชาวนาน่าจะได้น้อยมาก เนื่องจากฝนยังไม่ตก และมีฝนน้อยมากกว่าทุกปี นายกิจจา กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน