ตรัง นายกอบจ.ตรัง – อบต. หนุน ตัวแทนท้องถิ่นพบรบ.ใหม่ เชื่อ “อนุทิน” นั่ง มท.1 เข้าใจรากหญ้า แถมมี “เนวิน” เป็นกุนซือ โอด ที่ผ่านมาท้องถิ่นขนาดเล็กประสบปัญหาขาดงบ เน้นกระจายอำนาจแต่ไม่กระจายงบ หวั่น ถูกหั่นงบจากนโยบายเงินดิจิทัล
วันที่ 27 ส.ค.66 จากกรณี 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะส่งตัวแทนเข้าพบรัฐบาลชุดใหม่ โดยมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และ งบประมาณของท้องถิ่น ให้ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งเรื่องภารกิจและงบประมาณ ให้ท้องถิ่นสนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
ซึ่งนายกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดตรังได้แสดงความเห็น เห็นด้วยกับวัตถุประสงค์การเข้าพบรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งฝากความหวังไว้กับว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการดูและแก้ปัญหาของท้องถิ่น
โดยนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกอบจ.ตรัง กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการตั้งตัวแทนเพื่อเข้าพบรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อเรียกร้องประเด็นการกระจายอำนาจ และ เรื่องของการจัดสรรงบประมาณ หากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือร่วมใจกันเรียกร้อง ก็จะเป็นพลังที่ชัดเจน เรื่องงบประมาณในปีนี้ทางท้องถิ่นก็มีข้อกังวลว่าจะโดยหั่นงบประมาณไปใช้ในนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งทั้งประเทศมีมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านบาท หากรัฐบาลใหม่เกิดเองงบของท้องถิ่นไป ท้องถิ่นจะอยู่กันไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบ เนื่องจากตอนนี้ที่ท้องถิ่นอยู่ได้ก็เพราะได้บริหาร ได้ดูแลประชาชน บ้านเราจ.ตรังก็มีปัญหาเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมปีละ 2 ครั้ง , คลื่นลม อีกทั้งสินค้าเกษตรยางและปาล์มน้ำมัน ราคาตกต่ำ ประชาชนก็อยู่ไม่ได้
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
เรื่องการจัดสรรงบประมาณมายังท้องถิ่น ก็ต้องจัดสรรมาพัฒนา มีมาเท่าไหร่ก็ทำเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอ อย่างปีล่าสุดเราได้งบอุดหนุนเฉพาะกิจที่รัฐบาลให้มา จำนวน 80 ล้านบาท
นายบุ่นเล้ง กล่าวอีกว่า ที่ผ่าน ๆ มา องค์กรปกครองท้องถิ่นได้งบประมาณมาน้อย เขาก็ได้แต่โอดครวญ ไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งอย่างอบจ.ตรัง ไปทางสมาพันธ์อบจ.14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดกลุ่มอันดามัน แม้จะได้บ้างหรือไม่ได้ก็ดีกว่าอยู่เฉยๆ แต่ท้องถิ่นขนาดเล็กซึ่งเงินที่ได้มาหลังจ่ายงบประมาณจำเป็น เช่น ค่าน้ำมัน เงินเดือน ค่าไฟฟ้า ฯลฯ เหลือเพียงไม่เท่าไหร่ ก็เป็นปัญหาต่อการพัฒนาอย่างอื่น มีความคิดแต่ไม่มีเงินก็ทำงานลำบาก มีโครงการแต่พอไม่มีเงินก็ต้องพับโครงการไป
ส่วนเรื่องกระแสว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตนคิดว่าเป็นเรื่องดีเพราะนายอนุทิน รู้ปัญหาระดับล่างดี เพราะเป็นนักการเมืองที่รู้ความต้องการของพื้นที่ และทางฝั่งนายเนวิน ชิดชอบ ที่ถือได้ว่าเป็นครูใหญ่ของพรรคภูมิไทยก็ย่อมรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีเช่นเดียวกัน
ด้าน นายธรรมฤทธิ์ เขาบาท นายกอบต.บ่อหิน กล่าวว่า การที่สมาพันธ์อบต.แห่งประเทศไทยจะส่งตัวไปพบกับรัฐบาลชุดใหม่ อบต.เป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในท้องถิ่นมีมาก กฎหมายที่ปิดขั้นการดำเนินชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ต้องได้รับการแก้จากส่วนกลาง เช่น กฎหมายการใช้พื้นที่ , กฎหมายที่ดินทำกิน , กฎหมายเกี่ยวกับอาชีพและรายได้ หน้าที่ของรัฐต้องสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน ตนมองว่านโยบายกระจายอำนาจที่ลดฐานะให้ท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล แม้มีพรบ.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกระทรวงมหาดไทย ยังยึดติดกับกรอบแนวทางการพัฒนา เช่น งบประมาณที่กำหนดไว้ต้องไม่น้อยกว่า 35% ที่ต้องแบ่งมาให้ท้องถิ่น แต่ปัจจุบันนี้แบ่งมาจริงแค่ 27-28% เท่านั้น
นมโรงเรียน อาหารกลางวัน เบี้ยผู้สูงอายุ ตกไปประมาณ 40% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เรื่องงบอุดหนุนจะเฉพาะกิจเราก็เขียนโครงการขอไปทุกปี ซึ่งที่ได้มาก็ได้มาจากความสามารถผู้บริหารท้องถิ่น หรือความสนิทสนมกับผู้บริหารส่วนกลาง โดยในแต่ละปีมีงบอุดหนุนท้องถิ่นสูงถึง 4,000 – 5,000 ล้านบาท ซึ่งควรมีกติกาที่ชัดเจน และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมองว่ากรอบการพัฒนาต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ที่มีการกำหนดหมวดไว้ชัดเจน เช่น ด้านกีฬา ด้านการศึกษา ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านนวัตกรรม เป็นต้น ท้องถิ่นไหนส่งโครงการเข้าไปตรงกรอบโครงการที่กรมฯกำหนด ก็จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งในความเป็นจริงควรให้ความเป็นอิสระต่อท้องถิ่น เพราะปัญหาของแต่ละท้องถิ่นจำเป็นเร่งด่วนแตกต่างกันไป
นายธรรมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องโผว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตนมองว่าก็ยังไม่ชัดเจนจนกว่าจะมีการแต่งตั้ง และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นจะขึ้นตรงกับรัฐมนตรีช่วย ที่เขาแบ่งกันดู ตนอยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ให้แก้ปัญหาการดำรงชีวิตให้ประชาชนที่ต้องแก้ไขกฎหมาย เช่น กฎหมายด้านทรัพยากร กฎหมายท้องถิ่น
ซึ่งกฎหมายด้านทรัพยากร เกิดขึ้นจากพรบ.ที่มีศักดิ์และสิทธิที่เท่าเทียมกัน และ กฎหมายท้องถิ่นก็เกิดขึ้นจากพรบ.อบจ. , พรบ.เทศบาล , พรบ.อบจ. แต่เมื่อมีหน่วยงานอื่นเข้ามา เขาจะมองว่าเขาเหนือกว่า แต่หน้าที่ของอบต.ต้องดูแลพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ดังนั้นอำนาจน่าจะเท่าเทียมกัน
อีกประการหนึ่งที่ตนอยากสะท้อน คือเรื่องปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งกรมบัญชีกลางมองว่าโปร่งใส เป็นธรรม และถูกต้อง แต่ในข้อเท็จจริงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละพื้นที่ งบประมาณจากส่วนกลาง งบประมาณรัฐบาล งบประมาณประจำปี ที่จัดสรรให้พื้นที่ ส่วนงบประมาณยุทธศาสตร์ จัดสรรให้จังหวัด งบประมาณท้องถิ่นก็จัดสรรให้ท้องถิ่น แต่วิธีจัดซื้อจัดสร้างเป็นขั้นตอนที่กรมบัญชีกลางควบคุมให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมที่สุด ตนมองว่าเงินไม่ตกถึงประชาชน เช่น เมื่อมีเงินลงมาจ.ตรัง ก็ควรจะให้คนตรังที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์มีสิทธิรับสัมปทาน แทนจะให้สัมปทานคนต่างจังหวัดอื่น ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาที่ผ่านทีหลัง ปัญหาการรับประกัน ปัญหาการซ่อมแซม ซึ่งเหล่านี้กระทบต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: