เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ 28 สิงหาคม 2566 ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตรจังหวัดลำปางนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์ โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้การต้อนรับทั้งนี้มีหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน ที่สนใจเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ข่าวน่าสนใจ:
- ภูเก็ตจัดพิธีรำลึก "สึนามิ" ครบรอบ 20 ปี ที่หาดป่าตอง-สุสานไม้ขาว
- จ.ขอนแก่น เปิดงาน "มหกรรมหมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์"ระหว่างวันที่ 25 - 29 ธ.ค.67 ณ เวทีกลาง หน้าศาลากลาง
- สระแก้ว จัดพิธีรับพระราชทาน “พระพุทธสิรินธรเทพรัตน์มงคลภูวดลสันติ”
- ผู้ว่าฯขอนแก่น ลุยตรวจค้นเรือนจำ ตอกย้ำมาตรการคุมเข้มยาเสพติดทุกรูปแบบ
ก่อนทำพิธี “ฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์” มีการแสดง “ฟ้อนขันดอก” เพื่อเฉลิมฉลองและเลี้ยงขันโตกพลายศักดิ์สุรินทร์เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการเรียกขวัญพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่รัฐบาลไทยมอบให้ประเทศศรีลังกาในฐานะทูตสันถวไมตรี ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและสภาพจิตใจเป็นปกติและประสบความสำเร็จในระหว่างรักษาอาการป่วย ตามคติความเชื่อของวิถีการเลี้ยงช้าง
สำหรับ “พิธีฮ้องขวัญ” เป็นความเชื่อของคนไทยในสังคมภาคเหนือที่มีมาช้านาน ทั้งชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และชาวไทยภาคเหนือตอนล่างมีความเชื่อว่า “ขวัญ” เป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายทุกคนขวัญมีลักษณะเบา เคลื่อนไหวได้ ไม่อาจเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ ขวัญแฝงอยู่ในคน สัตว์ และสิ่งของ เมื่อใดที่ขวัญอ่อนลงหรือหย่อนจะทำให้สภาวะของร่างกายและจิตใจของเจ้าของขวัญจะรู้สึกเสียใจ ตกใจ ท้อใจ เมื่อเจ้าของขวัญมีขวัญดีจะรู้สึกสุขสบายใจและกล้าหาญ มีพลังเต็มเปี่ยม ชาวล้านนาเรียก “ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัว”
นอกจากนี้ชาวล้านนามีคำเรียกลักษณะขวัญที่อยู่กับเนื้อกับตัวว่า “รู้คิง” หมายถึงอาการของคนที่รู้เรื่อง รู้สึกตัว มีความรู้สึกเข้าใจทุกอย่าง ทุกขณะพูดและทำการใดก็รู้สติ ขวัญเป็นพลังแฝงในจิตใจเป็นนามธรรม ดูแลควบคุมกายจิตใจและวิญญาณให้มีดุลยภาพ ขวัญของชาวล้านนาจัดแบ่งประเภทเหมือนกับคนไทยท้องถิ่นอื่น คือ มีขวัญคน ขวัญพืช ขวัญสัตว์ และขวัญสิ่งของ (บ้านเรือนและเครื่องใช้ในการเกษตร) ชาวล้านนา มีพิธีกรรมโบราณ เรียกว่า “พิธีฮ้องขวัญ” หมายถึง พิธีเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างเดิม พิธีฮ้องขวัญเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญกับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติพิธีฮ้องขวัญ จะทำในโอกาสที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุต้องจากบ้านไปไกล มีความเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุหรือในกรณีที่มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือนบ้านเมือง
พิธีกรรมฮ้องขวัญของชาวล้านนามักปฏิบัติร่วมกับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (ส่งเคราะห์) และพิธีสืบชะตา โดยจะมีปฏิบัติต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากการสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตาและการเรียกขวัญ ซึ่งพิธีฮ้องขวัญ ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในสังคมล้านนา ทั้งชนเผ่าชาวไทยล้านนาและชาวเหนือตอนล่าง มีบทบาทเป็นพิธีกรรมแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม สร้างเสริมกำลังใจและขัดเกลาจริยธรรมและพฤติกรรมคนในสังคม พิธีเรียกขวัญหรือพิธีทำขวัญของชาวเหนือมีหลายลักษณะ ได้แก่ การเรียกขวัญเด็ก (การทำขวัญ) ขวัญลูกแก้ว (นาค) เป็นต้น
ด้านสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะนี้พ้นระยะกักโรคแล้วและรักษาอาการป่วยอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลช้างลำปาง หลังพิธีฮ้องขวัญจะมีการจัดทำโปรแกรมการตรวจรักษาสุขภาพช้างฯ และเตรียมเปิดให้ประชาชนได้เยี่ยมชม ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปางต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: