วันที่ 19 ก.ย.ที่โรงแรมสิรินพลา รีสอร์ท แอนท์ เรสเตอรองท์ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง นายกิติพงศ์ อุระวัตร นอภ.บ้านฉาง เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ครั้งที่ 2 : สรุปผลคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ) โครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อนำเสนอผลสรุปการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุม ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ และประชาชนเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก
ดร.กานต์ เฉลิมวงศ์พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองการจราจรและขนส่ง กล่าวว่า สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ 2 ทาง สกพอ. และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้มีการนำเสนอข้อมูลแนวเส้นทางและรูปแบบระบบขนส่งมวลชนรองของโครงการ โดยโครงการได้ศึกษาโครงข่ายให้มีการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่เมืองใหม่กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จำนวน 3 แนวเส้นทาง ได้แก่ แนวเส้นทางด้านเหนือ เมืองใหม่ อีอีซี – สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา แนวเส้นทางด้านตะวันตก เมืองใหม่ อีอีซี – สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา แนวเส้นทางด้านใต้ เมืองใหม่ อีอีซี – สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา ซึ่งจากผลการเปรียบเทียบความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น พบว่า แนวเส้นทางด้านใต้ เมืองใหม่ อีอีซี – สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา เป็นแนวเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด เพื่อนำมาเป็น “โครงการนำร่อง” สำหรับการศึกษาแนวเส้นทางและออกแบบรูปแบบแนวคิดเบื้องต้นของโครงการ ทั้งนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้คัดเลือกแนวเส้นทาง สำหรับการออกแบบรูปแบบแนวคิดเบื้องต้น 4 แนวเส้นทาง โดยแนวเส้นทางที่ 1 จุดเริ่มต้นพื้นที่เมืองใหม่ อีอีซี ผ่านทางหลวงหมายเลข 331 -ทางหลวงหมายเลย 332 – ทางหลวงหมายเลข 3 และไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา แนวเส้นทางที่ 2 จุดเริ่มต้นพื้นที่เมืองใหม่ อีอีซี ผ่านทางหลวงหมายเลข 331 – มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ผ่านทางหลวงหมายเลข 3 และไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา แนวเส้นทางที่ 3 จุดเริ่มต้นพื้นที่เมืองใหม่ อีอีซี ผ่านถนนตามแนวผังเมือง ญ.16 -ทางหลวงหมายเลข 3376 -ทางหลวงหมายเลข 3 และไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา แนวทางเลือกที่ 4 จุดเริ่มต้นพื้นที่เมืองใหม่ อีอีซี ผ่านถนนตามแนวผังเมืองญ.16 – ทางหลวงหมายเลข 3 และไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา ซึ่งจากการคัดเลือกแนวเส้นทาง พบว่า แนวเส้นทางที่ 2 มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้น บริเวณพื้นที่เมืองใหม่ อีอีซี จากนั้นจะเป็นทางยกระดับเหนือทางหลวงหมายเลข 331 (ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรห้วยใหญ่) โดยทางยกระดับจะยาวต่อเนื่องประชิดเขตมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (เขาชีจรรย์ เขาชีโอน) จากนั้นยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) และไปจุดสิ้นสุด
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม : นักวิ่งกว่า 3,000 คน ร่วมการแข่งขัน ‘นครพนม-คำม่วน มาราธอน ซีซั่น 6’ เชื่อมสัมพันธ์สองฝั่งโขง ชมสวยที่สุดที่นครพนม
- สนามเปิดตัวจังหวัดสระแก้ว "วิ่งเทรลไตรบูรพา ซีรีย์ 4 สนาม 3จังหวัดภาคตะวันออก"
- เครื่องบินตกครบ 3 เดือนกับความกระจ่างที่ยังไม่ปรากฏ คนพื้นที่ยังหวาดหวั่นคาใจ
- สองวัยรุ่นอดีตนักเรียนอาชีวะถูกคู่อริตามมาดักยิง ต้องบิดมอไซค์หนีตายฝ่าเข้าฝูงชน
สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา ผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ จังหวัดชลบุรี อำเภอบางละมุง และ อำเภอสัตหีบ จังหวัดระยอง อำเภอบ้านฉาง รวมระยะทาง 20 กิโลเมตร ส่วนการคัดเลือกรูปแบบระบบขนส่งมวลชนรองที่มีความเหมาะสมกับโครงการนำร่อง สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มหลัก โดยกลุ่มที่ 1 รถโดยสารที่วิ่งบนถนน โดยใช้พลังงานไฟฟ้า (Road – (Tire) based system) แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง บังคับด้วยมนุษย์ เช่น รถโดยสารทั่วไป (Conventional Bus) รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit : BRT) 2.ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง นำร่องและบังคับอัตโนมัติด้วยทางเสมือน (Rubber Tire Vehicle with Virtual Track) เช่น รถโดยสารอัตโนมัติ (Automated Rapid Transit : ART) กลุ่มที่ 2 ระบบรางที่วิ่งบนทางเฉพาะ (Fixed guideway-based system) แบ่งเป็น 2 ประเภท มี 1.ระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Conventional Rail-based) เช่น รถไฟฟ้าขนาดเบา/รถราง (Light Rail Transit : LRT/ Tram) รถรางบนทางรถไฟ (Tram-train) 2.ระบบรถไฟฟ้าร่วมสมัย (Contemporary Transit System) เช่น รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) รถไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับ (Automated Guideway Transit : AGT / Automated People Mover : APM) หรือ รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า (Urban Maglev) ทั้งนี้จากการคัดเลือกรูปแบบระบบขนส่งมวลชนรองที่เหมาะสมพบว่า รูปแบบระบบราง มีความเหมาะสมที่สุด ในการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งหลังจากนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ จะนำรูปแบบระบบขนส่งมวลชนรองนี้มาออกแบบรูปแบบแนวคิดเบื้องต้นของโครงการนำร่องและจะนำเสนอผลสรุปในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งภายหลังการประชุมครั้งนี้ สกพอ.และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม มาปรับใช้และพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่โครงการให้มากที่สุด พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: