X

‘หมออ๋อง’ ร่ายยาวดูงานสิงคโปร์ ใช้งบประหยัด โชว์ใบเสร็จ ตรวจสอบได้ (มีคลิป)

กรุงเทพฯ – นายปดิพัทธ์ สันติภาดา โว เปลี่ยนมาตรฐานการดูงานของประเทศ ยืนยันใช้งบอย่างประหยัด ตามระเบียบ ถ้าเหลือคืนคลังทั้งหมด เลือกคณะเดินทางตามความเชี่ยวชาญ คำนึงถึงเป้าหมาย พร้อมแสดงใบเสร็จค่าใช้จ่ายจริง

วันที่ 20 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ชี้แจงถึงการเดินทางไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 21-24 กันยายน 2566 นี้ ว่า เป็นหนึ่งในแผนงานที่กำหนดไว้แล้ว ของคณะกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาโปร่งใสและสมรรถนะสูง ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ประกอบด้วย 4 อนุกรรมการ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาเพื่อประชาชน 2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฐานข้อมูลรัฐสภาเพื่อประชาชน 3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสื่อสารเชิงกลยุทธ์เพื่อประชาชน และ 4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน

ซึ่งกรรมการและอนุกรรมการ ต้องการเห็นภาคปฏิบัติและรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพัฒนาสภาฯให้เป็นสากลได้ แต่ควรเริ่มต้นศึกษาจากประเทศที่เป็นพันธมิตรในระดับอาเซียน และประเทศที่มี Best Practices หรือมีการพัฒนาที่ดีที่สุด ในด้านที่เราต้องการ สุดท้ายจึงเป็นประเทศสิงคโปร์

ใช้งบฯประหยัด เป็นไปตามระเบียบ พร้อมแสดงใบเสร็จ
นายปดิพัทธ์ ชี้แจงอีกว่า งบประมาณที่ตั้งไว้ เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ในส่วนค่าใช้จ่ายการเดินทางของ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นการตั้งงบฯ โดยยังไม่ได้จองจริง และยังไม่สามารถลงรายละเอียดของการเดินทางได้ เจ้าหน้าที่จึงตั้งโครงการและงบประมาณตามสิทธิที่อยู่ในระเบียบทุกประการไว้ก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายจริงทั้งหมด จะเปิดเผยแบบละเอียดได้หลังเดินทางกลับมา

อย่างไรก็ตาม บางส่วนสามารถเปิดเผยได้วันนี้ คือ ตั๋วเครื่องบินที่ตั้งไว้ตามสิทธิ คือ 52,000 บาท แต่จองจริงได้ 28,000 บาท ส่วนที่เหลือส่งกลับคืนคลังทั้งหมด ส่วนโรงแรมตามสิทธิเบิกได้ 12,500 บาท จองจริงประมาณ 9,000 บาท ขณะเดียวกัน ตนเองกำลังทำหน้าที่ในฐานะทูตของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ต้องมีการรับรองผู้เยี่ยมคารวะ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเลี้ยงรับรองบุคคลต่าง ๆ ที่มาพบอย่างสมเกียรติของประเทศไทยด้วย

สำหรับงบรับรอง ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามากเกินไปหรือไม่ ตอนตั้งงบ ยังไม่ทราบโปรแกรมโดยละเอียด จึงจะมีการหักทอนต่าง ๆ เช่น เบี้ยเลี้ยงของคณะเดินทาง อาหาร เมื่อสถานทูตหรือกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เลี้ยงรับรองแล้ว ก็จะหักออก ส่งกลับคืนคลังทั้งหมด และยินดีแสดงใบเสร็จว่าใช้ไปเท่าไหร่ อย่างไร

เลือกคณะเดินทางอย่างเหมาะสม ตามความรู้ ความสามารถ
รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวต่อว่า คณะเดินทาง ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรก คือ กรรมการขับเคลื่อนรัฐสภา ซึ่งมีตนเอง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นายวรภพ วิริยะโรจน์ จะไปดูระบบสารสนเทศ ฐานข้อมูลโปร่งใส ส่วนที่สองและสาม ตั้งใจจะเชิญประธานหรือกรรมาธิการกิจการสภา ไปด้วยกัน แต่เนื่องจากวันนี้ ยังไม่มี กมธ. จึงใช้วิธีแบ่งคร่าว ๆ เป็นฝ่ายค้านและรัฐบาล สรุปเป็นพรรคก้าวไกล 3 คน ที่ลงชื่อต้องการทำงานใน กมธ.กิจการสภา และเชิญอีก 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย แต่มีเพียงพรรคเพื่อไทย 2 คนที่เดินทางไปด้วยกัน คือ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ และ พชร จันทรรวงทอง ที่เป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นวิศวกรที่เข้าใจเทคโนโลยีอย่างดี สรุปคณะเดินทาง รวม 12 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่สภาฯ 4 คน

นายปดิพัทธ์ ชี้แจงถึงสาเหตุเลือกวันคาบเกี่ยวเสาร์-อาทิตย์ ว่า ด้วยภารกิจของตนเอง จำเป็นต้องอยู่ในสภาฯ เต็มเวลา จึงจัดทริปแบบปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้ จะมีการดูงานการจัดการฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายในประเทศ มาตรการต่าง ๆ ที่ใช้บังคับด้วย

พร้อมส่งรายงาน ถึงมือรัฐบาล พรรคการเมือง ภาคประชาชน
ภายหลังการดูงาน จะทำผลการศึกษาส่งไปยัง 3 ส่วน คือ 1.รัฐบาล โดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 2.พรรคการเมืองต่าง ๆ และ 3.ภาคประชาสังคม

ไม่ใช่ใช้งบเคลียร์ท่อ ก้าวไกลจะดูงานเท่าที่จำเป็น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการใช้งบประมาณแบบล้างท่อหรือไม่ นายปดิพัทธ์ ชี้แจงว่า งบฯ ที่ใช้ในการเดินทางครั้งนี้ ประมาณ 1 ล้านบาทเศษ ถ้าจะล้างท่อกันจริง ๆ น่าจะต้องไปประเทศที่ใช้จ่ายมากกว่านี้ ด้วยคณะที่ใหญ่กว่านี้ แต่การใช้งบประมาณเท่านี้ ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการเคลียร์ท่อ เราวางแผนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเทอมการทำงาน ดูปัญหาภายในให้เรียบร้อย แล้วหาประเทศดูงาน จึงมาพอดีกันในเดือนนี้

ส่วนนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ลดงบประจำที่ไม่ใช่เงินเดือนของข้าราชการ เช่น การไปดูงานเมืองนอก โครงการอบรมสัมมนา นายปดิพัทธ์ ยืนยันตามนโยบายเดิม การดูงานของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่สามารถตอบกลับมาเป็นผลสัมฤทธิ์ได้ จึงตั้งคำถามถึงผลสัมฤทธิ์และนโยบาย ให้ประหยัด คุ้มค่า ไม่ใช่เป็นวัฒนธรรม แต่เป็นเป้าประสงค์ของการดูงาน คือ ต้องดูงานเท่าที่จำเป็น สามารถตอบสังคมได้ และมี accountability ถ้าสิ่งที่ตนเองทำ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบแล้วสามารถพิสูจน์ได้ถึงผลลัพธ์ของการดูงาน ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของการดูงานของประเทศไทยได้

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"