กรุงเทพฯ – กฟผ. เดินหน้าความร่วมมือต่อเนื่องระยะที่ 2 กับสถาบันอาหาร ต่อยอดวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารจากท้องถิ่นชุมชนรอบพื้นที่ กฟผ. สู่การยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเป้าหมายชุมชนมีรายได้เพิ่มและเติบโตอย่างยั่งยืน
นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาขีดความสามารถของกิจการชุมชน กฟผ. เพื่อสร้างความได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ชุมชนพร้อมแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร ระยะที่ 2
โดยมี นายสุชีพ มีถม ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. และนางสาวนุจรินทร์ เกตุนิล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอาหาร สถาบันอาหาร ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ.
นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. ระบุว่า กฟผ. ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน พร้อมการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ โดย กฟผ. กำหนดเป้าหมายในการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้สังคมและชุมชนรอบพื้นที่เขื่อน โรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. สามารถมีรายได้พึ่งพาตนเองได้ จากการส่งเสริมด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน และการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนที่มีร่วมกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
โดยปี 2565 กฟผ. มีแผนงานความร่วมมือกับอุตสาหกรรม มูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม นำวัตถุดิบพื้นถิ่นและวัตถุดิบเหลือใช้ มาต่อยอดด้วยนวัตกรรมอาหาร ภายใต้การผลิตอาหารปลอดภัย และปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม จนเกิดเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ “ขายได้” เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารได้
ซึ่งจากการดำเนินงานปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มยอดขายได้มากว่าร้อยละ 30 อีกทั้งช่วยลดต้นทุน ลดของเสีย และลดขยะ ตามแนวทางโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน (BCG) ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศสู่ Green Social Business ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงนับเป็นโอกาสดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารจากท้องถิ่นชุมชน สู่ตลาดสากล ให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาในระยะที่ 2 เน้นสินค้าและบริการด้านสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น อาทิ อาหารฟังก์ชั่น, อาหารจากพืช Plant based food, อาหารเฉพาะบุคคล เช่น วีแกน คีโต, อาหารและเครื่องดื่ม Low sugar, Low Fat และ Low Sodium รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร และสารสกัดจากธรรมชาติ
ด้านนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เสริมว่า ที่ผ่านมา สถาบันอาหาร และ กฟผ. ได้ร่วมดำเนินงานส่งเสริมให้เกิดศักยภาพของกิจการชุมชนในการพัฒนาต่อยอด และสร้างคุณค่าแก่ชุมชนบริเวณรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า เขต และเขื่อนของ กฟผ. นำมาซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน บนแนวความคิดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทาง BCG ยกระดับมาตรฐานการผลิต ความปลอดภัย คุณภาพสินค้า และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนเพื่อไปสู่การเติบโตแบบยั่งยืน
โดยสถาบันอาหารมีแนวทางสร้างคุณค่า 4 ด้าน ดังนี้ TRUST คือ การสร้างความเชื่อมั่นในด้าน Food Safety และ Food Quality VALUE คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอด Supply Chain ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม POWER คือ การพัฒนาศักยภาพและสร้างองค์ความรู้แก่ชุมชน บริเวณรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า เขต และเขื่อนของ กฟผ. และผู้เกี่ยวข้อง และ SPEED คือ การส่งเสริมให้ชุมชนบริเวณรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า เขต เขื่อนของ กฟผ. และผู้สนใจเข้าถึงข้อมูลและตลาดเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว อันจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: