X

จ่อตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจ ที่พารากอน วอนสังคมไม่บ่มเพาะพถติกรรมรุนแรง (มีคลิป)

กรุงเทพฯ – อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย ยังไม่คุยเยาวชนกราดยิงพารากอน ไม่ด่วนสรุป ป่วยทางจิตหรือไม่ แต่สังคมต้องตื่นตัวป้องกันความรุนแรง และเด็กทุกคนที่เจ็บป่วยทางจิต ต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและไม่ขาดยา จ่อตั้งศูนย์ MCATT ที่พารากอน  

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุการณ์ เยาวชนชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงที่ ศูนย์การค้าสยามพารากอน วานนี้ (3 ต.ค.) ว่า  เป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าเสียใจ ที่เด็กถึงขั้นลงมือใช้อาวุธร้ายแรง  ส่วนสาเหตุยังต้องวิเคราะห์ในเชิงลึก เพราะอาจมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้ แต่โดยธรรมชาติของวัย ช่วงวัยรุ่นเช่นนี้จะเป็นกลุ่มที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มีวุฒิภาวะจำกัดในการควบคุมอารมณ์

ทั้งนี้ การที่เด็กมีประสบการณ์รับรู้ความรุนแรงโดยตรงต่อตัวเอง หรือการเห็นภาพจากสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าว หรือสื่อเพื่อความบันเทิง คลิปวิดีโอ ภาพยนตร์ เกมส์ เมื่อผ่านการสัมผัสและการรับรู้ไปนาน ๆ จะทำให้เกิดความชาชิน เกิดการซึมซับ แม้กระทั่งตัวเองยังไม่รู้ตัวว่าได้เผลอรับความรุนแรงเข้าไปแล้ว นี่คืออีกสิ่งที่สังคมต้องตื่นตัวช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้มีข่าว ภาพข่าว คลิปเหตุการณ์ หรือกระทั่งสื่อความบันเทิงที่มีความรุนแรง ถูกเผยแพร่อย่างไร้ข้อจำกัด

ส่วนเด็กป่วยทางจิตหรือไม่ แพทย์หญิงอัมพร มองว่า ประเด็นที่สังคมจะได้ประโยชน์มากกว่า อาจจะไม่ใช่การสรุปว่าเด็กเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เป็นการวิเคราะห์เหตุการณ์ว่า ไม่ว่าเด็กจะเป็นอะไรก็ตาม แต่สังคมต้องตื่นตัวกับการป้องกันความรุนแรง ไม่ว่ารายนี้จะเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เด็กทุกคนที่เจ็บป่วยทางจิต ต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะขาดยาหรือไม่ แต่ผู้ป่วยทุกคนต้องไม่ขาดยาและต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากแพทย์ พร้อมได้รับความร่วมมือจากครอบครัว

อธิบดีกรมสุขภาพ เปิดเผยอีกว่า วันนี้ ได้เข้ามาประสานดูแลเรื่องการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ก่อเหตุ เหยื่อ ครอบครัว รวมถึงผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ยังไม่ได้พูดคุยกับผู้ก่อเหตุ จึงยังไม่ทราบเรื่องสภาพจิตใจ ขอให้ถามทางตำรวจ

โดยกระบวนการ จะต้องประเมินสภาพจิตใจเด็กอย่างเป็นระบบ ยังไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ แต่พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งหมด ถ้ามีส่วนไหนจะต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือก็จะเข้าไปทำการเยียวยาจิตใจ ถ้าพบมีประเด็นไหนที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ทางจิตใจ บางรายอาจจะรวมถึงการให้ยา หรือกินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็ต้องช่วยเหลือตามกระบวนการ หรือบางรายอาจจำเป็นต้องเข้าสู่การบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง

“การดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องเชิงคดี เช่นคนเห็นเหตุการณ์ ญาติของเขาก็ต้องเข้าไปดูแลด้วย และวันนี้มาเพื่อสร้างความมั่นใจว่า การดูแลทั้งหมดจะเป็นไปอย่างครบถ้วนที่สุด และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงสภาพติตใจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ได้พูดคุยกับทางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ว่าอาจจะมีการตั้งศูนย์ MCATT ที่นั่น เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ น่าจะได้ข้อสรุปภายในเย็นวันนี้ ซึ่งต้องประเมินอีกทีว่า ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มีความหวาดกลัวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน” แพทย์หญิงอัมพร กล่าว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"