X

ปธ.ชมรมนกกรงหัวจุกตรัง เชื่อ ปลดล็อกได้เป็นเรื่องดี สร้างศก.คนใต้มหาศาล แฉ จนท.อนุญาตขึ้นทะเบียนทำงานช้า สบช่องผลประโยชน์ได้

ตรัง-ปธ.ชมรมนกกรงหัวจุกตรัง เชื่อ ปลดล็อกได้เป็นเรื่องดี หากปลดไม่ได้ควรเปิดให้เพาะขยายพันธุ์จริงจัง เผยสร้างศก.คนใต้มหาศาล แฉ จนท.อนุญาตขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะพันธุ์ทำงานช้า เป็นอุปสรรค สบช่องผลประโยชน์ได้

จากกรณีที่มีข้อเสนอจากภาคประชาชนในพื้นที่อยากให้กรมอุทยานแห่งชาติแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พิจารณาการผ่อนคลายการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนกกรงหัวจุก ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น อีกทั้งมีการจัดการแข่งขันเสียงร้องในหลายภูมิภาค มีการเลี้ยงในกรงแขวนตามบ้านเรือนของผู้ที่ชื่นชอบนกชนิดนี้ รวมทั้งมีการเพาะขยายพันธุ์เพื่อจำหน่าย ซึ่งนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขนจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนกลำดับที่ 550 ตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ห้ามล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ แต่เปิดโอกาสให้เพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้ แต่ยังมีผู้เพาะเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก เนื่องจากมีขั้นตอนการขออนุญาตหลายขั้นตอน โดยเมื่อปี2565 มีการพูดถึงการปลดล็อกนกกคงหัวจุกมาแล้วเช่นกัน ซึ่งในขณะนั้นกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ปลดนกกรงหัวจุก พ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

จนล่าสุดในช่วงปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมา เรื่องปลดล็อกนกกรงหัวจุกเป็นกระแสขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว โดยนายกัมปนาท อินทองมาก ประธานชมรมนกกรงหัวจุกเมืองตรัง กล่าวว่า เมื่อปี 2546 มีการให้ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกไปแจ้งขึ้นทะเบียนนกกรงหัวจุกที่มีการครอบครองไว้ ซึ่งตอนนั้นตนก็ไปแจ้งขึ้นทะเบียนเช่นเดียวกัน แต่แจ้งไปแล้วก็ไม่มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยืนยันว่า นกกรงหัวจุกไม่มีทางสูญพันธุ์ไปจากบ้านคน ไม่ต้องกลัวเลยว่านกกรงหัวจุกจะมีการผสมข้ามสายพันธุ์จนทำให้มีสปีชี่ส์หรือสายพันธุ์ที่ต่ำลง และโดยหลักธรรมชาตินกกรงหัวจุกจะผสมพันธุ์กับนกปรอดหน้านวลอยู่แล้ว นกในฟาร์มก็เป็นการผสมข้ามสายพันธุ์อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันนี้นกในธรรมชาติมีแต่ลดน้อยลง ตนมองว่าหากมีการส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์จะช่วยอนุรักษ์นกกรงหัวจุกไว้ได้ ไม่ยากด้วยข้อกฎหมาย ตนเชื่อว่าคนภาคใต้ไม่มีใครอยากให้นกกรงหัวจุกสูญพันธุ์ เจ้าของฟาร์มมีรายได้จากการเพาะพันธุ์ การแข่งขันนกกรงหัวจุกเป็นกีฬาพื้นบ้านอย่างหนึ่ง (soft power)

นายกัมปนาทกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก และคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มายาวนาน ในจังหวัดตรังมีสนามแข่งขันนกกรงหัวจุกอยู่หลายแห่ง ตอนนี้มีการถกเถียงกันเรื่องปลดล็อกนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องนี้เคยมีข้อเสนอเมื่อปี 2563 ตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ในฐานะที่เป็นคนภาคใต้ที่มีความผูกพันกับวิถีนกกรงหัวจุกมายาวนาน จังหวัดตรังมีการแข่งขันนกกรงหัวจุกมาตั้งแต่ปี 2520 ขอยืนยันเลยว่าปัจจุบ้นนกกรงหัวจุกในธรรมชาติไม่มีเหลือเป็นนกพื้นถิ่นเมืองใต้อีกแล้ว ในอดีตนกกรงหัวจุกที่มีชื่อ ได้แก่ นกกรงหัวจุกอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง นกกรงหัวจุกบ้านทุ่งครุจังหวัดนครศรีธรรมราช นกกรงหัวจุกจังหวัดกระบี่ โดยในช่วงที่การเลี้ยงนกกรงหัวจุกเฟื่องฟูมากๆ มีการลักลอบนำนกกรงหัวจุกจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาในภาคใต้เพื่อเลี้ยงและแข่งขัน ปัจจุบันในจังหวัดตรังมีนกกรงหัวจุกที่หลุดไปจากบ้านคน หรือ ถูกคนเลี้ยงนำไปปล่อยให้อาศัยในธรรมชาติก็มีบ้าง พวกนี้อาศัยอยู่ในวัดบ้าง ในสวนสาธารณะบ้าง เพราะเป็นแหล่งอาหาร และมีการผสมพันธุ์กัน

นายกัมปนาท กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนกกรงหัวจุกมีการเพาะเลี้ยงกันมากขึ้น มีทั้งเพาะขยายพันธุ์แบบฟาร์มใหญ่ และฟาร์มขนาดเล็ก ซึ่งต้องขออนุญาตถูกต้อง ต้องนำพ่อแม่พันธุ์ที่ได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย มาขออนุญาตครอบครองนกตัวนั้นๆ กับหน่วยงานกรมอุทยานฯ จังหวัดตรังต้องไปแจ้งที่จังหวัดนครศรี ใบอนุญาตครอบครองมีอายุ 3 ปี และต้องไปขอใบอนุญาตเพาะพันธุ์ ซึ่งใบอนุญาตเพาะพันธุ์มีอายุ 5 ปี ครบ 5 ปี ต้องไปต่อใบอนุญาตเพาะพันธุ์ใหม่ เช่นเดียวกับใบอนุญาตครอบครองนกก็ต้องไปต่อใบอนุญาตทุกๆ 3 ปี เช่นเดียวกัน จนกว่านกตัวนั้นๆจะตายไป ปัญหาที่ตามมาเมื่อเพาะพันธุ์ได้ลูกนก เจ้าของฟาร์มต้องแจ้งการเกิดของลูกนกต่อให้เจ้าหน้าที่ และต้องรอให้เจ้าหน้าที่มาตรวจ 2 ครั้งต่อปี แต่ปรากฎว่ากว่าเจ้าหน้าที่จะมาตรวจลูกนกกรงหัวจุกก็โตจนฟาร์มขายไม่ได้ เพราะคนเลี้ยงนกเขาต้องการซื้อนกที่อายุน้อยๆ ปัญหาของผู้เพาะเลี้ยงนกคือความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ ในการตรวจลูกนกที่ฟาร์ม และวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯแต่ละเขตแตกต่างกัน เมื่อเพาะพันธุ์มากๆ และบางครั้งก็มีเรื่องผลประโยชน์มา

“วันนี้มีการลักลอบแอบเพาะขยายพันธุ์นกกรงหัวจุกจำนวนมาก เป็นเพราะชาวบ้านที่อยากได้นกเก่งๆ แต่พ่อแม่พันธุ์เป็นนกเถื่อน เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดว่าพ่อแม่พันธุ์ต้องเป็นนกที่มีใบอนุญาตเท่านั้น เพาะพันธุ์แล้วก็ได้ลูกนกเถื่อน แม้จะเพาะรูปแบบฟาร์มก็ตามแต่
ซึ่งปัญหาของนกกรงหัวจุกเกิดขึ้นมานานแล้ว ปัจจุบันนกเถื่อนที่ใช้ในการแข่งขันมีน้อยมาก แต่เป็นนกที่มาจากการเพาะพันธุ์”นายกัมปนาทระบุ

นายกัมปนาท กล่าวว่า นกกรงหัวจุกมีความผูกพันธ์กับเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชาวบ้านตั้งแต่คนปลูกกล้วย มะละกอ เพาะหนอนนก ขายเป็นอาหารนก พ่อแม่พันธุ์และลูกนก มีมูลค่า กรงนกกรงหัวจุกแบบธรรมดาทำจากไม้ไผ่ ราคากรงละ 500-3,000 บาท กรงจากไม้สาวดำ ราคากรงละ 5,000-10,000 บาท ถ้าช่างมีฝีมือมีรางวัลการันดี ราคากรงละ 100,000 บาท กรงแบบฝังมุกใบละ 50,000-100,000 บาท ในขณะเดียวกันนกที่เสียงดี ร้องเพราะ ร้องเก่ง รูปร่างสวย มีรางวัลจากการแข่ง จะมีราคาแพงตามมา สมัยอดีตนกกรงหัวจุกจังหวัดตรัง ชื่อ “สุดหล่อ” มีการซื้อขายจริงราคา 300,000 บาท พร้อมกรงนก นกชื่อ”หนองบัว”ของเซียนนก อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีคนมาเสนอราคาซื้อ 400,000 บาท แต่เจ้าของไม่ขายให้ การแข่งขันนกในจังหวัดตรัง แต่ละสนามมีนกเข้าแข่งขัน 200-300 ตัว หากเป็นงานใหญ่ชิงถ้วยบุคคลสำคัญ จะมีนกเข้าร่วมแข่งร่วม 1,000 ตัว

“เรื่องปลดล็อกนั้นเคยพูดกันมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 และเป็นกระแสเฉพาะภาคใต้เท่านั้น และผู้ที่เพาะขยายพันธุ์นกก็อยากให้ปลดล็อก การปลดล็อกเป็นเรื่องดี สามารถสร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจได้จริง แต่หากปลดล็อกไม่ได้ก็ควรเปิดให้มีการเพาะขยายพันธุ์นกกรงหัวจุกอย่างจริงจัง ขจัดอุปสรรคความล่าช้าของขั้นตอนแจ้งเกิด การตรวจลูกนก การขึ้นทะเบียน”นายกัมปนาทกล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน