สกู๊ปรายงาน : ปักหมุด! ตามดูพิธีศักดิ์สิทธิ์ ประเพณี”อุ้มพระดำน้ำ” เพชรบูรณ์
จากตำนานเรื่องเล่ากว่า 400 ปี ณ วันนี้ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์ ได้กลายเป็นประเพณีที่หลอมรวมดวงใจของชาวเพชรบูรณ์ให้เป็นหนึ่งเดียว
วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบของทุกๆปี เสมือนเป็นการนับย้อนตำนานความเชื่อ ในการสืบทอดพิธีตามตำนานศักดิ์สิทธิ์ “อุ้มพระดำน้ำ” ที่หลวงด่อนพร้อมภริยาชาวประมง ทอดแหหาปลากลางแม่น้ำป่าสัก กระทั่งพบพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน พระเศียรทรงเทริด มีหม้อยาหรือหม้อน้ํามนต์อยู่บนพระหัตถ์ จึงพร้อมใจกันอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ
จนปีต่อมาพระพุทธรูปดังกล่าวหายไป กระทั่งชาวบ้านชางเมืองตามหากันจ้าระหวั่น จนไปพบพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว กำลังดำผุดดำว่ายในลำน้ำป่าสัก จุดบริเวณที่พบองค์พระในครั้งแรก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิอีกครั้ง พร้อมถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” กระทั่งกลายเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวเพชรบูรณ์
ข่าวน่าสนใจ:
หลังจากนั้นสืบต่อมาเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ในอดีต จึงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ ทำพิธีอุ้มพระดำน้ำในวันแรม 10 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งตรงกับวันสารทไทย เป็นประจำทุกปี
โดยมีความเชื่อว่า จะทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข มีความสมัครสมานสามัคคี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองปราศจากโรคระบาด และยังมีความเชื่อด้วยว่า หากปีใดเจ้าเมืองไม่ประกอบพิธีฯ ก็จะทำให้เกิดอาเพท บ้านเมืองไมาสงบสุขเกิดความแร้นแค้นขึ้น
สำหรับในปี 2566 นี้ จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำขึ้นระหว่างวันที่ 10-19 ตุลาคม 2566 นี้ ซึ่งไฮไลท์ของการจัดงานฯ อยู่ในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ซึ่งในช่วงเช้าจะมีพิธีบวงสรวงเทวดาอารักษ์และสิ่งศักดิ์ที่ดูแลปกปักษ์รักษาพระพุทธรูปคู่บ้านคูเมืององค์นี้ ณ วัดไตรภูมิ
จากนั้นในช่วงเย็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์พร้อมคณะ จะร่วมกันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา แห่แหนรอบตัวเมืองเพชรบูรณ์ โดยมีการจัดขบวนแห่ทั้งทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งขบวนแห่ของชุมชนเข้าอีกด้วย
กระทั่งในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ จะอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาจากวัดไตรภูมิ แห่แหนไปโดยขบวนเรือ เพื่อไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำตามโบราณประเพณี ร่วมกับกรมการเมืองทั้ง 4 ฝ่าย ที่บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อสืบทอดตำนานศักดิ์สิทธิ์ของชาวเพชรบูรณ์
โดยนายเสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ในฐานะเลขานุการจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำฯ กล่าวว่า รูปแบบการจัดงานฯในปีนี้ ยังคงยิ่งใหญ่อลังการ สมกับเป็นประเพณีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ซึ่งนอกจากจะเน้นความเข้มขลัง และการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอีกด้วย
นายเสกสรรกล่าวว่า โดยเฉพาะกิจกรรมภายในงานในปีนี้ นอกจากจะมีพิธีรำถวายองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ที่บริเวณพุทธอุทยานเพชบุระ(องค์พระใหญ่)แล้ว ยังมีการแสดงแสงสีเสียงตำนานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ โดยไม่มีการเก็บค่าเข้าชม รวมทั้งการแข่งขันพายเรือทวนน้ำ กิจกรรมอาหารอร่อยปลอดภัย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและมโหรสพรื่นเริงอื่นๆอีกด้วย
นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ยังให้คำแนะนำนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางเข้ามาชมพิธีอุ้มพระดำน้ำอย่างสนุกและรอบรู้ถึงคุณค่า รวมทั้งภูมิปัญหาของคนโบราณที่แฝงในพิธีอุ้มพระดำน้ำแล้ว จึงควรเข้าชมประวัติความเป็นมาของพิธีกรรมอุ้มพระดำน้ำตามโบราณประเพณี ที่หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัดหลังเก่า โดยอยู่ภายในสถานที่จัดงานฯด้วย
“นอกจากจะได้ความรู้ความเข้าใจถึงแก่นแท้ของประเพณีอุ้มพระดำน้ำแล้ว ยังเข้าใจถึงประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ ตั้งแต่อดีตจวบถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย”นายเสกสรรกล่าวทิ้งท้าย
: นุชนารถ จบเถื่อน รายงาน / นาวิน คงวราคม ถ่ายภาพ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: