ตรัง-เปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก และนกกรงแฟนซี ที่ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ซื้อพ่อแม่พันธุ์เริ่มต้นแค่ 1 คู่ ผ่านมา 5 ปี สามารถพัฒนาสายพันธุ์สร้างรายได้หลายแสนบาทต่อปี ยืนยันหากมีใบอนุญาตครบทั้ง 3 ประเภท คือ ใบอนุญาตครอบครอง ใบอนุญาตเพาะขยายพันธุ์ และใบอนุญาตค้าสัตว์ป่า จะเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนี่งที่สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกร
ที่วิชยุตย์ฟาร์ม ตรัง สายแข่งและแฟนซี บ้านเลขที่ 64/209 หมู่บ้านทอฟ้า หมู่ 2 ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง นายดุสิต พรหมอ่อน อายุ 43 ปี อาชีพประจำคือ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ประกอบอาชีพเสริมคือ เพาะขยายพันธุ์นกกรงหัวจุก (นกปรอทหัวโขน) สายแข่ง และนกกรงแฟนซี โดยได้รับใบอนุญาตถูกต้อง ทั้งใบอนุญาตครอบครอง ใบอนุญาตเพาะขยายพันธุ์ และใบอนุญาตค้าสัตว์ป่า จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) จากการเริ่มต้นซื้อพ่อแม่พันธุ์มา 1 คู่ โดยพ่อพันธุ์สีขาว แม่พันธุ์สีดำปกติ ในราคา 1 แสนบาท เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากนั้นนำมาเพาะขยายพัฒนาสายพันธุ์มาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ทั้งสองประเภทรวมกันประมาณ 100 ตัว โดยมีการแบ่งพื้นที่ข้างบ้านทำกรงเลี้ยง กรงเพาะ แยกไว้เป็นกิจลักษณะ โดยแยกจากกันระหว่างกรงพ่อพันธุ์ขนาดใหญ่ 1 กรง กับกรงแม่พันธุ์ขนาดใหญ่ 1 กรง ส่วนกรงเพาะ ซึ่งเป็นการจับคู่ พ่อ-แม่พันธุ์เลี้ยงไว้ด้วยกัน เพื่อให้ออกไข่และฟักไข่ ทั้งหมด 9 กรงเพาะ/คู่ โดยแต่ละกรงเพาะจะมีการนำต้นไม้มาตกแต่งภายในกรง นำภาชนะสร้างรังไว้ให้ ภาชนะใส่อาหารทั้งกล้วย หนอนนก และอาหาร น้ำกิน น้ำอาบหรือน้ำเล่น ไว้ให้ จำลองเสมือนอยู่ในป่า เพื่อให้กลมกลืนคล้ายธรรมชาติมากที่สุด นอกจากนั้นมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามพฤติกรรมนก โดยแต่ละคู่สามารถออกไข่ได้ประมาณ 7 ครอกต่อปี หรือหากเลี้ยงได้สมบูรณ์จริงๆ จะออกไข่ได้ประมาณ 8 – 10 ครอกต่อปี แต่ละครอกออกลูกได้ประมาณ 2-3 ตัว ราคาขายหากเป็นนกกรงแฟนซีตัวละ 10,000 บาท ส่วนนกกรงหัวจุกสายแข่ง ราคาตัวละ 4,000 -5,000 บาท ส่วนตัวมีรายได้เสริมต่อปีหลายแสนบาท แต่ขณะที่นกในธรรมชาติ ต้องหากินเองตามธรรมชาติ ความสมบูรณ์อาจจะน้อย จึงออกลูกได้น้อยประมาณ 3 ครอกต่อปีเท่านั้น วิธีปฏิบัติ เมื่อลูกนกออกมาทุกตัว ก็จะต้องไปแจ้งการครอบครอง และเพื่อค้ากับเจ้าหน้าที่ทุกตัว สำหรับจังหวัดตรังมีฟาร์มเพาะนกประมาณ 60 แห่ง ซึ่งการเลี้ยงนกกรงหัวจุก ผูกพันเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านมายาวนาน เช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่ชน และวัวชน ดังนั้น นกจึงเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนที่เพาะเลี้ยงได้จำนวนมากต่อปี รวมทั้งกระจายรายได้จากการซื้อกล้วย หนอนนก อาหาร กรงนก จึงคิดว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ของชาวบ้านได้ และเป็นการอนุรักษ์นกกรงหัวจุกไม่ให้สูญพันธุ์ด้วย
นายดุสิต เกษตรกร บอกว่า ของตนเองดำเนินการตามกฎหมายกำหนดทุกประการ มีใบอนุญาตครบทั้ง 3 ประเภท คือ ใบอนุญาตครอบครอง ใบอนุญาตเพาะขยายพันธุ์ และใบอนุญาตค้าสัตว์ป่า เพราะนกปรอทหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก จัดเป็นสัตว์ป่าสงวน เริ่มต้นจากการซื้อพ่อแม่พันธุ์มาเพียง 1 คู่เท่านั้น จนตอนนี้พัฒนาสายพันธุ์ได้ทั้งนกสายแข่ง และนกกรงแฟนซี หรือนกเผือก โดยมีนกแข่งมีกรงเพาะกว่า 10 กรง ส่วนนกกรงแฟนซี มีกรงเพาะ 9 กรง ซึ่งพ่อแม่พันธุ์ถ้าสมบูรณ์จริงๆรายได้ต่อปีอยู่อย่างสบาย แต่ละคู่ออกไข่ ฟักลูกได้ประมาณ 2-3 ตัว หรือหากสมบูรณ์มากบางครั้งได้ถึง 4 ตัว มองว่าปริมาณนกที่ออกแต่ละปี แค่คอกละ 2 ตัว/เดือน หากกรงเพาะ 9 กรง แต่ละเดือนจะมีลูกนกออกใหม่เดือนละ 18 ตัว หากคิด 10 เดือน จะได้ลูกนกปีละ 180 ตัว ราคานกกรงแฟนซี ตัวละ 10,000 บาท นอกจากนั้นตัวเองมีนกสายแข่ง มีกรงเพาะอีกกว่า 10 คอก ปริมาณนกก็ยิ่งทวีคูณ ราคาขายนกแข่งตัวละ 4,000 -5,000 บาท แต่หากเสียงดี ราคาอาจพุ่งเป็นหมื่น เป็นแสนบาท ส่วนตัวรายได้ต่อคู่ปีละประมาณ 150,000 บาท ทำให้มีรายได้หลายแสนบาทต่อปี เนื่องจากนกกรงหัวจุกเป็นที่นิยมในพื้นที่ภาคใต้
โดยนกเพาะจะออกไข่ได้มากกว่านกในธรรมชาติ เนื่องจากได้อาหารที่อุดมสมบูรณ์กว่าการหากินในธรรมชาติ ทั้งนี้ ตนได้ติดกล้องวงจรปิดติดตามพฤติกรรมด้วย เพื่อศึกษาพฤติกรรม และเก็บข้อมูลสถิติ ส่วนนกธรรมชาติอัตราออกไข่จะน้อยกว่าจำนวนปีละ 2-3 ครอกเท่านั้น แต่นกเพาะจะออกไข่ปีละ 7-8 ครอก ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมนก พบว่านับตั้งแต่แม่พันธุ์ออกไข่ใบแรก ( ซึ่งเวลาออกไข่แต่ละครั้งประมาณ 2-3 ฟอง หรืออาจ 4 ฟอง) อายุฟักประมาณ 11-12 วัน ไข่ก็จะแตกออกเป็นตัว ซึ่งในระยะนี้พ่อแม่นกเป็นผู้ดูแล โดยแม่นกจะเป็นผู้กกลูกใช้อุณหภูมิร่างกายแม่ เพราะเป็นช่วงที่ดูแลยากคนทำไม่ได้ นับจากนั้นอีกประมาณ 7-8 วัน เราก็สามารถจับลูกนกออกมาป้อนอาหารเองได้ หรืออาจจะมีตู้อบเล็กๆ ในการดูแลหรืออนุบาล หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือนก็จะกินอาหารเป็น ดูแลตัวเองได้ ส่วนพ่อแม่นกหลังจากแยกลูกนกออกมา โดยเฉลี่ยประมาณ 7 วัน พ่อแม่คู่นั้นก็จะออกไข่ชุดใหม่ทันที ส่วนอายุของนกที่จะขายได้นั้น ขึ้นอยู่กับตลาดความต้องการของลูกค้า ซึ่งนกที่ออกจากไข่เริ่มกินอาหารเป็นราคาจะไม่สูงมาก เพราะเขายังไม่มีเพลง เพราะนกกรงหัวจุกตัวที่ราคาสูงจะต้องดูที่ความเก่งหรือความสามารถในการขัน หรือสำนวนเพลงของเขาด้วย ปกติลูกนกตัวเล็กๆ เมื่อแตกออกจากไข่ เริ่มกินอาหารเป็น ราคานกเผือกหรือนกแฟนซีตัวละ 10,000 บาท ส่วนนกแข่งตัวละ 4,000 -5,000 ตัว ดังนั้น อยากแนะนำให้ทุกครัวเรือนเพาะเลี้ยง แค่ครัวเรือนละ 1 – 2 คู่ แต่ยังต้องไปขออนุญาตทั้ง 3 ประเภทกับเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้อง เพราะขณะนี้นกกรงหัวจุกยังคงเป็นสัตว์ป่าสงวน แม้ผู้เลี้ยงนกพยายามจะเสนอให้รัฐบาลปลดล็อก แต่รัฐบาลยังไม่ได้ปลด ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวได้อย่างงามตลอดทั้งปี เพราะตลาดสดใสคนต้องการจำนวนมาก ส่วนตัวเอง หากใครต้องการคำแนะนำในการเลี้ยง และเพาะขยายพันธุ์นก สามารถติดต่อได้ ที่วิชยุตย์ฟาร์ม ตรัง สายแข่งและแฟนซี หมายเลขโทรศัพท์ 086-3553962
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- ตรัง จากสวนปาล์มตรังสู่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานต้นแบบ ขุดสระน้ำเป็นรูปเลข 9 อารบิก สอดคล้องกับแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9
- ตรัง ราคายางดิ่งกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม กยท.หนุนสถาบันทำโครงการชะลอยางสู้นายทุน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: