X

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรบ้านนาแช่ ส่งเปลือกข้าวโพด ขาย Biomass Co-Firing โรงไฟฟ้าแม่เมาะ


วิสาหกิจชุมชนกลุ่มจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรบ้านนาแช่ จัดตั้งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 มีสมาชิก 7 คน สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งพื้นที่ ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ ส่วนมากชุมชนนิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลูกมากถึง 13,812 ไร่ เมื่อได้ผลผลิตอย่างเมล็ดข้าวโพดแล้วจะเหลือวัสดุเหลือใช้ ประเภทเปลือกและซังกองเป็นภูเขา รวมไปถึงต้นแห้งเหี่ยวหลายพันไร่ ในอดีตสิ่งที่ชาวบ้านจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือการเผา ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ จึงเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะตามมา เรื่องมลพิษทางอากาศ และยังเป็นโอกาสในการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านการขายเปลือกซังข้าวโพดในรูปแบบของกลุ่มวิสาหกิจฯ

นางสาวณัฐชา ปิงยอม หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรบ้านนาแช่ เล่าว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลูกได้เพียงปีละครั้ง ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ใช้เวลาเจริญเติบโตประมาณ 3-4 เดือน และช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายนเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวโพดสำหรับขาย ในบริเวณลานรับซื้อเมล็ดข้าวโพด จะเห็นภาพภูเขาเปลือกและซังข้าวโพดเป็นกองสูง ถึง 1,000 ตัน โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ของ กฟผ.แม่เมาะ ได้เข้ามาตอบโจทย์ของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้ง่ายขึ้น ภายใต้โครงการ Biomass Co-Firing ที่นำเชื้อเพลิงชีวมวลเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน เพื่อลดปริมาณการปล่อย Co2 และฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการ รับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อย่างเปลือกและซังข้าวโพดไปเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน ด้วยการนำไปอัดเม็ด (Pellet) จึงเป็นการเริ่มต้นก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนนี้ขึ้นมา

ก่อนหน้านั้นเปลือกข้าวโพดส่งไปขายให้กับ SCG ที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ขนส่งโดยรถบรรทุก 6 ล้อ ทำให้เสียค่าขนส่งเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อ กฟผ.แม่เมาะมีโครงการ Biomass Co-Firing จึงมีแหล่งขายที่ใกล้กว่าลดค่าขนส่ง โดยรับซื้อตันละ 420 บาท ในระยะเวลา 1 ปี ทางกลุ่มฯ จะส่งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรประมาณ 1,000 ตัน เป็นการสร้างรายได้เสริม และลดการเผาส่วนของเปลือกและซังข้าวโพดแทนที่จะเผากลายเป็นมลพิษทางอากาศ ในอนาคตชุมชนยังมองเห็นโอกาสในการร่วมผลิตชีวมวลอัดเม็ดหรือ Biomass Pellet ซึ่งจะทำให้กลุ่มวิสาหกิจฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น และยังสามารถสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน