X

เพชรบูรณ์พบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลาน คล้ายเกล็ด-เขี้ยวสัตว์กินเนื้อ คาดเป็นจระเข้ยุคนีโอจีน อายุ 13-15 ล้านปี รอนักธรณีฯชี้ชัด

เพชรบูรณ์พบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลาน คล้ายเกล็ด-เขี้ยวสัตว์กินเนื้อ คาดเป็นจระเข้ยุคนีโอจีน อายุ 13-15 ล้านปี รอนักธรณีฯชี้ชัด

วันที่ 22 พฤศจิกายน นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ (เพชรบูรณ์จีโอปาร์ค) และประธานสภาวัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า จ.เพชรบูณ์ได้ค้นพบฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์ที่น่าสนใจเพิ่มเติม โดยเป็นก้อนหินมีฟอสซิลลักษณะคล้ายเกล็ดสัตว์เลื้อยคลาน และอีกชิ้นเป็นฟอสซิลลักษณะเป็นหินรูปร่างคล้ายเขี้ยวหรือฟันของสัตว์เลื้อยคลาน โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่าฟอสซิลทั้งสองชิ้นเป็นชิ้นส่วนของสัตว์เลื้อยคลานประเภทกินเนื้อจำพวกจระเข้ ในยุคนีโอจีน มีอายุความเก่าแก่ราว 13-15 ล้านปี โดยพบที่บ้านกกกะทอน ต.นาซำ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งระหว่างนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ธรณีวิทยา ทำการตรวจสอบเพื่อยืนยันความชัดเจน

นายวิศัลย์กล่าวว่า สำหรับการพบชิ้นส่วนฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากเมื่อราว 2 เดือนที่ผ่านมา นายคำพัน ไพรชาญ เป็นอดีตผู้ดูแลถ้ำใหญ่น้ำหนาว ซึ่งเป็นเครือข่ายของอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ทำการขุดสระในที่นาบริเวณบ้านกกกะทอน ต.นาซำ อ.หล่มเก่า กระทั่งได้พบก้อนหินซึ่งมีชิ้นส่วนฟอสซิลคล้ายเกล็ดสัตว์บางชนิดติดอยู่ในก้อนหินปะปนขึ้นมาด้วย จึงนำมามอบให้ซึ่งทางอุทยานฯ

ผู้ทรงคุณวุฒิอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ต่อมาทางอุทยานฯ จึงได้จัดส่งไปให้นักธรณีวิทยาที่สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ตรวจพิสูจน์ กระทั่งเบื้องต้นได้รับแจ้งโดยสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเกล็ดสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจระเข้ พร้อมมีฟอสซิลกระดูกบางชิ้นอยู่ในหินก้อนเดียวกันด้วย แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการส่งข้อมูลไปให้ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศตรวจสอบความชัดเจน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลตรวจสอบอยู่

“จากนั้น ต่อมาทางอุทยานฯจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จุดบริเวณพบฟอสซิลดังกล่าว เพื่อจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม กระทั่งได้พบชิ้นส่วนฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์เพิ่มเติมอีก โดยชิ้นส่วนฟอสซิลที่พบมีลักษณะคล้ายเขี้ยวหรือฟันสัตว์ปลายแหลม มีขนาดใหญ่ โดยสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเป็นของสัตว์เลื้อยคลานชนิดกินเนื้อขนาดใหญ่ พร้อมยังพบฟอสซิลคอปเปอร์ไรต์(มูลสัตว์)อีกจำนวนหนึ่งด้วย”นายวิศัลย์กล่าว

นายวิศัลย์กล่าวว่า หลังประสานทางสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปาง พร้อมส่งข้อมูลไปให้ตรวจสอบ ปรากฎว่าได้รับความสนใจ และจากการสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า เป็นฟอสซิลชิ้นส่วนเขี้ยวหรือฟันสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกินเนื้อ ทั้งนี้ จากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่พบทั้งเกล็ดและเขี้ยวหรือฟันในแหล่งเดียวกันซึ่งสอดคล้องกัน จึงคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจระเข้และอาจเป็นชนิดเดียวกัน โดยทางเจ้าหน้าที่ธรณีวิทยาจะขอเดินทางมาตรวจพิสูจน์อีกครั้งในเร็วนี้

“อย่างไรก็ตามนัยที่สำคัญคือแหล่งที่พบเป็นแอ่งเพชรบูรณ์ ไม่ใช่พบบนภูเขาอย่างเช่นที่เคยพบฟอสซิลไดโนเสาร์โปรซอโรพอด และรอยตีนอาร์โคซอร์ที่น้ำหนาว โดยแอ่งเพชรบูรณ์เกิดขึ้นในภายหลัง อาจจะอยู่ในยุคนีโอจีน อายุราว 13-15 ล้านปี ซึ่งเราเคยพบฟอสซิลซากสัตว์ดึกดำบรรพ์หลายอย่าง อาทิ ฟอสซิลปลาน้ำจืดแหล่งหนองปลา อ.หล่มสัก หรือฟอสซิลแรดและกวางโบราณที่ ต.บ้านกลาง อ.หล่มสัก”นายวิศัลย์กล่าว

ผู้ทรงคุณวุฒิอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ฉะนั้นจึงเป็นไปได้จากการสันนิษฐานทั้งชั้นหินและชั้นดิน ในแหล่งที่พบฟอสซิลใหม่ที่บ้านกกกะทอน จึงน่าจะอยู่ในยุคเดียวกันได้แก่ ยุคนีโอจีน อายุราว 13-15 ล้านปี และจากลักษณะฟันเขี้ยวที่ส่วนปลายมีความแหลม จึงน่าจะเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกินเนื้อประเภทจระเข้ อย่างไรก็ตามยังเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น คงต้องรอนักธรณีหรือผู้เชี่ยวชาญมาตรวจพิสูจน์ยืนยันความชัดเจนอีกครั้ง

นายวิศัลย์กล่าวว่า การพบซากดึกดำบรรพ์ในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแอ่งเพชรบูรณ์และเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยพบซากดึกดำบรรพ์มาก่อน จึงอาจจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะทำให้เราเรียนรู้เรื่องธรณีวิทยาของจังหวัดเพชรบูรณ์เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องยุคสมัย ลักษณะภูมิประเทศและชนิดของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เคยเกิดขึ้นในบริเวณนี้ในยุคดึกดำบรรพ์

“ส่วนฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์ที่พบล่าสุดนี้ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาพร้อมตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์ ในอุทยานวิทยาศาสตร์หนองนารี อ.เมืองเพชรบูรณ์ สนใจสามารถติดต่อเข้าชมได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น”นายวิศัลย์กล่าวย้ำ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน