สระแก้ว – อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้วแจงโบราณสถานปราสาทห้วยพะไย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว อยู่ห่างจากโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ตาม พ.ร.บ.โรงงานกำหนด โยนกลองกรณีผลกระทบต่อโบราณสถาน เป็นอำนาจของทาง สผ.ที่รับผิดชอบในการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่อดีตอุตสาหกรรมจังหวัดเผยข้อมูลการจัดทำอีไอเอ ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถานตามกฎหมาย ทีมผู้ชำนาญการที่ร่วมกันจัดทำรายงานทั้ง 14 คน ไม่มีผู้ชำนาญการด้านโบราณสถาน ส่อเจตนาหลีกเลี่ยง ชี้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนิ่งเฉย ทั้งที่มีการทำผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ตัวแทนภาคประชาชนชาวจังหวัดสระแก้ว ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกผ่านทางโชเชียล ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ผู้บริหารบริษัท นิวกว้างสุ้นหลี จำกัด หรือ KSL และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้ยุติการก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เนื่องจากการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบต่อโบราณสถานปราสาทบ้านน้อย ห้วยพะไย ที่อยู่ติดกับพื้นที่ก่อสร้างของโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ได้เผยแพร่ออกไปทางโซเชียลได้ระยะหนึ่ง แต่การก่อสร้างในโครงการนี้ยังคงดำเนินการต่อไป โดยไม่สนใจคำทักท้วงของภาคประชาชน รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัด ต่างเงียบเฉยและไม่มีการชี้แจงใด ๆ ต่อประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด จนปัจจุบันการก่อสร้างได้รุดหน้าไปมาก จนถึงการก่อสร้างฐานรากของอาคารต่าง ๆ ของโรงงาน จนถูกตั้งคำถามว่า เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่ดำเดินการใด ๆ
ล่าสุด นายพฤกษ์ ศิโรรัตนเศรษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าว ได้ผ่านการประเมินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจาก สผ. แล้ว และทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายโรงงานทุกประการ และตนในฐานะอุตสาหกรรมจังหวัด ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดจนครบถ้วน และเห็นว่า ถูกต้องแล้ว จึงนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างในเวลาต่อมา สำหรับข้อกังวลที่ประชาชนในพื้นที่เกรงว่าโครงการดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อโบราณสถานใกล้เคียงและการทำ อีไอเอ ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีรายงานผลกระทบต่อโบราณสถานนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของทาง สผ. ที่รับผิดชอบ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่เพียงให้การอนุมัติ ถ้าการขอตั้งโรงงานได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายโรงงาน
ข่าวน่าสนใจ:
- ป.ป.ช.ลงพื้นที่การรุกล้ำทางเข้าและกีดขวางการจราจร หน้าด่านคลองลึก-ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว
- ทำลายท่อซิ่ง!! รถ จยย.เสียงดังผิดกฎหมาย หลังระดมกวาดล้างจับกุมใช้มาตรการเข้มจับ-ปรับ 2,000 บาท ยึดท่อ ทำเอ็มโอยูผู้ปกครอง
- สภาพการจราจรสระแก้วมุ่งหน้าช่องเขาตะโก ไปบุรีรัมย์และอีสานใต้เคลื่อนตัวได้ คาดตั้งแต่ค่ำนี้เป็นต้นไปรถเริ่มหนาแน่น
- สระแก้ว จัดพิธีรับพระราชทาน “พระพุทธสิรินธรเทพรัตน์มงคลภูวดลสันติ”
ขณะเดียวกัน นายพกฤษ์ ยังได้กล่าวถึงข้อกังวลของชาวบ้านว่า โรงงานอาจจะสร้างผลกระทบต่อโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียงนั้น ข้อเท็จจริงแล้ว โบราณสถานอยู่ห่างจากโรงงานตามที่กฎหมายกำหนด คือแนวเขตของพื้นที่ตั้งโบราณสถานกับแนวเขตของโรงงานห่างกัน 140-150 เมตร แต่ถ้าวัดระยะห่างจากตัวปราสาทไปยังรั้วของโรงงาน ซึ่งลักษณะพื้นที่จากตัวปราสาทไปยังรั้วของโรงงาน จะเป็นที่ราบสลับกับทุ่งนา จะอยู่ห่างกันมาก และถ้าวัดระยะทางจากตัวปราสาท ไปยังจุดศูนย์กลางของโรงานที่มีความสั่นสะเทือนและฝุ่นละออง จะห่างกันนับเป็นกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมจังหวัดคนดังกล่า ยังกล่าวอีกว่า เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจนและถูกต้อง ทางจังหวัดได้ให้เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัด ออกรังวัดระยะห่างทั้งหมดตามที่กล่าวข้างต้น โดยมีตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนของโรงงาน ตัวแทนจากกรมศิลปากร ผอ.สำนักศิลปากรที่ 5 ตัวแทนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมออกรังวัด และลงนามรับรองการออกรังวัด ซึ่งจะทราบผลภายในสัปดาห์หน้า ผลการรังวัดที่ออกมาจะชี้ชัดแน่นอน เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ เพราะเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งจะบ่งบอกถึงระยะห่างระหว่างโบราณสถานและตัวโรงงานอย่างถูกต้อง
นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ได้พยายามติดต่อพุดคุยกับพนักงานและส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ของบริษัท นิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ที่กำลังก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ถึงกรณีข้อร้องเรียนและข้อกังวลของภาคประชาชน และเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโรงงานไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับชาวบ้านได้ แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงและไม่ให้รายละเอียดใด ๆ โดยกรณีดังกล่าว มีรายงานด้วยว่า กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง จะเดินทางเข้าไปสอบถามกรณีดังกล่าวที่ศาลากลางจังหวัดเร็ว ๆ นี้
ทางด้าน นายศุภกฤต พรรคนาวิน อดีตอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อให้ข้อมูลกรณีดังกล่าวระบุว่า กรณีมีโรงงานน้ำตาลทรายและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน กระทรวงอุตสาหกรรมจะออกใบอนุญาตตั้งโรงงานได้หรือไม่ ซึ่งมีประชาชนชาวสระแก้วเกิดข้อสงสัยมากมายหลายประการ ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันระหว่างราษฎรในพื้นที่ผักขะ วัฒนานคร จำนวนมาก กับโครงการที่มาตั้งโรงงานขนาดใหญ่ถึง 2 โรงงานในพื้นที่ ซึ่งอยู่ใกล้โบราณสถานเพียง 430 เมตร ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวสระแก้วจะได้รับผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรมหลายโรงงาน เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม โรงงานยางพารา โรงงานผลิตแป้งมัน และโรงงานผลิตเอทานอล เป็นต้น
สำหรับกรณีโรงงานทั้ง 2 โรง ทั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว ที่มีการยื่นคำขออนุญาตตั้งโรงงานไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม มีกลุ่มราษฎรทำหนังสือสอบถามในข้อสงสัยประเด็นต่าง ๆ หลายประเด็น หากดูจากหนังสือของกระทรวงที่ตอบมาชาวบ้าน รู้สึกท้อแท้ใจ เพราะดูแล้วหนังสือที่ตอบล้วนเป็นประโยชน์ต่อโรงงานทั้งสิ้น โดยบางประเด็นตอบแบบเห็นแก่ตัวให้พ้นตัวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบที่อ้างแต่ว่า โครงการทั้งสองได้รับความเห็นชอบจาก สผ.แล้ว ในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และแถมยังอธิบายว่า โรงงานตั้งได้ เพราะกฎหมายของกระทรวงกำหนดระยะห่างไว้ว่า ต้องไม่น้อยกว่า 100 เมตร ใช่ครับกระทรวงตอบเช่นนั้นได้ ไม่ผิด แต่สิ่งที่กระทรวงตอบนั้น ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะเนื่องจากในการขออนุมัติ อนุญาตในกิจการใด ๆ ก็ตาม ใช่ครับ เป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่จะต้องพิจารณากฎหมายของกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบการพิจารณาด้วยเสมอ จะเอาเฉพาะกระทรวงตัวไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่น กฎหมายผังเมือง หากผู้ขอมาขออนุญาตตั้งโรงงานในพื้นที่สีเขียว ห้ามก่อสร้างโรงงาน ซึ่งผังเมืองไม่อนุญาต กระทรวงก็ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้
“สำหรับโครงการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร เนื่องจากประเด็นปัญหาคือการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา มีการหลีกเลี่ยงประเด็นสำคัญคือ การศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถานสำคัญ ที่อยู่ใกล้กันเพียง 430 เมตร ทั้ง ๆ ที่กฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ออกประกาศไว้แล้ว ในราชกิจจานุเบกษาว่า โครงการที่อยู่ห่างจากโบราณสถานระยะห่างไม่เกิน 1000 เมตร จะต้องทำแผนงานโดยละเอียด เสนอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาก่อน แต่โครงการนี้ไม่เคยทำ และในรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบ ก็ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถานตามกฎหมาย ทีมผู้ชำนาญการที่ร่วมกันจัดทำรายงานทั้ง 14 คน ไม่มีผู้ชำนาญการด้านโบราณสถาน ย่อมเห็นได้ชัดว่า ส่อเจตนาหลีกเลี่ยง คำสั่งทางปกครองของหนังสือกรมศิลปากรที่ วธ0415/216 ลงวันที่ 28 ก.พ.65 หนังสือดังกล่าวสั่งการให้ผู้จัดทำรายงานทำการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถานอย่างละเอียด โดยให้มีนักโบราณคดีในพื้นที่และนอกพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการ เมื่อแล้วเสร็จต้องส่งให้กรมศิลปากรพิจารณาก่อน” นายศุภกฤต ระบุและกล่าวอีกว่า
ผู้ดำเนินการศึกษาไม่เคยส่งรายงานให้กรมศิลปากรพิจารณา ไม่มีการเอาผู้ชำนาญการด้านโบราณสถานเข้าพื้นที่แม้แต่คนเดียว สถานภาพปัจจุบันคือ ตอนนี้ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ทราบเรื่องจากการร้องเรียน แล้วแจ้งตอบกลับว่า ได้ส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้พิจารณาทั้งสองโครงการดำเนินการตรวจสอบแล้ว และเห็นว่าเป็นข้อมูลจริงจะต้องมีคำสั่งยกเลิกความเห็นชอบในรายงาน EIA ทั้ง 2 ฉบับในทันที ปัญหาของกระทรวงอุตสาหกรรม หากมีการออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานทั้ง ๆ ที่เกิดปัญหาใน EIA กระทรวงต้องรับผิดชอบในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันอาจส่งผลต่อความเสียหายต่อสมบัติของชาติคือ โบราณสถานทันที ซึ่งปัญหาของจังหวัดสระแก้ว ทั้ง ๆ ที่มีราษฎรเกิดข้อกังวลและเป็นห่วงต่อโบราณสถาน แต่จังหวัดกลับไม่สนใจอะไรเลย แม้แต่การสั่งการของ อบต.ผักขะ ที่ดูแลด้านการก่อสร้างทั้ง ๆ ที่รู้ว่ารายงาน EIA ไม่ถูกต้อง แต่กลับนิ่งดูดาย ก็ระวังไว้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จากการที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 โครงการ (แต่ไม่สมบูรณ์) และเมื่อเริ่มมีการก่อสร้าง ตามกฎหมายคือ จะต้องมีการตรวจสอบผลกระทบช่วงโครงการก่อสร้างว่า เป็นไปตามเกณฑ์ที่ผู้ทำการศึกษาประเมินไว้หรือไม่ ดังนั้น จะต้องมีบริษัทที่ 3 หรือ ThirdParty เป็นผู้ทำการประเมิน เหตุที่ต้องใช้บริษัทที่สามเป็นผู้ตรวจสอบนั้น เพื่อจะได้มีความชอบธรรมและน่าเชื่อถือนั่นเอง แต่สำหรับโครงการทั้ง 2 ในการเข้ามาตรวจสอบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงการทำการก่อสร้าง กลับเป็นบริษัทที่ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเอง เหมือนกับเป็นการออกข้อสอบเอง ทำข้อสอบเอง แล้วจะให้เชื่อถือได้อย่างไร แถมเรื่องนี้คงไม่จบเท่านี้ เพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายครับ
สำหรับปราสาทบ้านน้อย ห้วยพะใย ตั้งอยู่ที่ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว โดยปราสาทบ้านน้อย เป็นอโรคยาศาลสร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ เป็นอโรคยาศาลเพียงแห่งเดียวที่สำรวจพบในจังหวัดสระแก้ว สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ค.ศ. 1181-1218) ภายโบราณสถาน ประกอบด้วย ปราสาทประธานและบรรณาลัยที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีโคปุระหรือซุ้มประตู ทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ภายในโคปุระ แบ่งเป็นห้องทิศเหนือและห้องทิศใต้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงแก้ว เป็นที่ตั้งของบารายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขอบบารายกรุด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันไดลาดลงไปที่ก้นสระ นอกจากนี้ ยังพบบารายที่มีคันดินล้อมรอบบริเวณด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของอโรคยาศาล โดยบารายด้านทิศเหนือกว้างประมาณ 45 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร บารายด้านทิศตะวันออกกว้างประมาณ 110 เมตร ยาวประมาณ 225 เมตร
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทบ้านน้อย ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนพิเศษ 38 ง วันที่ 20 พฤษภาคม 2541 เนื้อที่โบราณสถาน 45 ไร่ 95 ตารางวา ในปีพุทธศักราช 2563 กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้ดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณปราสาทบ้านน้อย โดยได้ทำการขุดค้น ขุดตรวจและขุดแต่ง ทั้งภายในและภายนอกกำแพงแก้ว รวมทั้ง บารายด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของโบราณสถาน สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบบูรณะเสริมความมั่นคงและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโบราณสถาน เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ ที่สำคัญของจังหวัดสระแก้วในอนาคต
—————————–
ข่าวโดย/สมยศ สินธุพันธ์ ,ธนภัท กิจจาโกศล ทีมข่าวสระแก้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: