X

อบจ.ระยองร่วมกับ มจพ.ระยอง ขยายผลจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเสียชุมชน หลังพบคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินแม่น้ำระยอง และแม่น้ำประแส มีแนวโน้มเสื่อมโทรมมากขึ้น

วันที่ 15 ธ.ค.66 ณ ห้องประชุม 302 ชั้น 3 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นายกิตติ เกียรติ์มนตรี รองนายก อบจ.ระยอง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม ขยายผลการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเสียชุมชน จังหวัดระยอง พ.ศ. 2567 – 2576 เพื่อนำแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติ โดยมี ศ. ดร.ธานินทร์ ศิลป์จารุ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขต มจพ.ระยอง รศ.ดร ดร.ชาญชัย ทองประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มจพ. รศ.ดร.ธีรวัฒน์ บุญยโสภณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มจพ.คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ผู้นำท้องถิ่นและคณะทำงานโครงการจ้างศึกษาความเหมาะสมการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเสียชุมชน จังหวัดระยอง เข้าร่วมการประชุม

นายกิตติ เกียรติ์มนตรี รองนายก อบจ.ระยอง กล่าว่าปัญหามลพิษทางน้ำ และคุณภาพแหล่งน้ำเสื่อมโทรมของจังหวัดระยองนับวันจะรุนแรงมากขึ้น จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมืองและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรม ข้อมูลผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำโดยใช้ค่าดัชนีคุณภาพแหล่งน้ำ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2563 ถึง ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2566 พบว่า คุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินหลักของจังหวัดระยอง ได้แก่ แม่น้ำระยอง และแม่น้ำประแส มีแนวโน้มเสื่อมโทรมมากขึ้น ซึ่งรายงานผลวิเคราะห์คุณภาพแหล่งน้ำ ครั้งที่ 3/2566 ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 สำหรับแม่น้ำระยองแสดงให้เห็นว่าค่าระดับดัชนีคุณภาพน้ำมีค่าอยู่ในระดับเสื่อมโทรมสูงถึงร้อยละ 83 ขณะที่แม่น้ำประแสมีค่าระดับดัชนีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ระดับเสื่อมโทรมคิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำที่เป็นปัญหาหลัก ได้แก่ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ ปริมาณความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคัลโคลิฟอร์ม และปริมาณแอมโมเนีย-ไนโตรเจน ที่อาจมาจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ อาทิ น้ำทิ้งชุมชน ร้านค้าเชิงพานิชย์ ตลาดสด สถานประกอบการต่าง ๆ หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำและลำคลองโดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการชลประทานและผลิตน้ำประปาสำหรับการอุปโภคและบริโภคภายในจังหวัดระยอง อีกทั้ง จังหวัดระยองได้พัฒนาให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ มีการขยายตัวของเขตเมืองและมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้เกิดปริมาณน้ำเสียจำนวนมาก น้ำเสียเหล่านี้หากไม่ได้รับการกำจัดหรือบำบัดให้เหมาะสม ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาคุณภาพแหล่งน้ำเสื่อมโทรมและการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแหล่งน้ำ

ศ.ดร.ธานินทร์ ศิลป์จารุ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขต มจพ.ระยอง กล่าวว่าการจัดประชุมขยายผลการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเสียชุมชน จังหวัดระยอง พ.ศ. 2567 – 2576 เพื่อนำแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้ โครงการจ้างศึกษาความเหมาะสมการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเสียชุมชน จังหวัดระยอง จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่และขยายผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับทราบและนำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเสียชุมชนฯ ดังกล่าว ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน