เพชรบูรณ์เร่งฟื้นฟู”ตุ๊บเก่ง”ดนตรีพื้นบ้าน หลัง วธ.ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติเสี่ยงต่อการสูญหาย
วันที่ 20ธ.ค.66 : หลังจากกระทรวงวัฒนธรรมประกาศขึ้นทะเบียน “ตุ๊บเก่ง” ดนตรีพื้นบ้านเมืองเพชรบูรณ์ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี 2566 ประเภทรายการที่เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน
ล่าสุด นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า คำว่า “ตุ๊บเก่ง”มาจากเสียงของเครื่องดนตรีที่สำคัญ 2 ชนิด โดย“ตุ๊บ” หมายถึงเสียงของกลอง และ “เก่ง” หมายถึงเสียงของฆ้องกระแต โดยตุ๊บเก่งเป็นดนตรีที่แสดงในพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มความขลังความศักดิ์สิทธิ์ มีต้นกำเนิดที่บ้านป่าแดง ต.ป่าเลา อ เมืองเพชรบูรณ์ มีความเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 100 ปี
“ส่วนสาเหตุที่เสี่ยงต่อการสูญหายเป็นเพราะแนวดนตรีของตุ๊บเก่งไม่เร้าใจกับดนตรีอื่นๆ อาทิ แตรวง เป็นต้น จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดนตรีตุ๊บเก่งหมดความนิยมลงไป”นายวิศัลย์กล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
- ชมคลิป-เตรียมเที่ยวงาน 10 ชาติพันธุ์ ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในรูปแบบใหม่ ชมขบวนแห่กลุ่มชาติพันธุ์อลังการ
- หนุ่มควบจยย อัดเหล็กกั้นโค้งร่างกระเด็นถูกเหล็กกั้นโค้งบาดไส้ไหล
- ชาวบ้านผวา พบเสือ 3 แม่ลูก ป้วนเปี้ยนในป่า 100 ไร่ใกล้ฟาร์มเลี้ยงวัว ไม่กล้าเกี่ยวข้าว-กรีดยาง วอนบุกพิสูจน์
- พ่อค้ายาเกมส์ ซุกยาบ้าในกล่องนมมิดชิด รอส่งพ่อค้ารายย่อย ไม่รู้ตร.ซุ่มกวาดล้าง ถูกรวบพร้อมของกลาง 70 เม็ด
ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์กล่าวว่า แนวดนตรีตุ๊บเก่งนั้นหากฟังดูแล้วจะค่อนข้างช้า โหยหวล จนอาจทำให้เกิดความเศร้าไปด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้คนไม่อยากนำไปใช้ในงานมงคล แต่นำไปแสดงในงานอวมงคล อาทิ งานศพเป็นต้น ทั้งที่ในอดีตดนตรีตุ๊บเก่งถูกนำไปแสดงทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล
“ทำให้งานลดลงไปเรื่อยๆ กระทั่งนักดนตรียากที่จะดำรงชีพต่ออีกได้ จนต้องยุบวงแทบหมด เหลืออยู่แค่วงเดียวที่บ้านป่าแดง และผู้เล่นต่างก็มีอายุมากกันแล้ว ทำให้ต้องเร่งอนุรักษ์ไว้เพราะเกรงสูญหายไป”นายวิศัลย์กล่าว
ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความยากง่ายของดนตรีตุ๊บเก่งนั้น อยู่ที่ผู้ที่เป่าปี่แต้ซึ่งหายากมาก แต่ที่โชคดีที่เราควานหาคนเป่าปี้แต้ได้ ซึ่งเป็นชายวัยรุ่นจึงรับเข้าทำงานที่โรงเรียนเทศบาล 3 และให้รัยผิดชอบดูแลวงตุ๊บเก่งด้วย ขณะเดียวกันยังมอบภารกิจฟื้นฟู โดยให้ฝึกสอนเด็กนักเรียนขึ้นมา จนปัจจุบันพบเด็กเยาวชนหลายคนที่ชอบและเป่าปี่แต้ได้ดี
นายวิศัลย์กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางที่จะฟื้นฟูให้ตุ๊บเก่งมาใช้ในงานมงคลได้นั้น ปัจจุบันมีการรื้อฟื้นแนวดนตรีให้มีความเร้าใจยิ่งขึ้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ได้ช่วยคิดค้นท่ารำประกอบ อาทิ เพลงนกกระปูดที่มีท่ารำ เพื่อจะนำมาใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
“นอกจากนี้ในทุกๆ งานทางวัฒนธรรม ก็จะนำดนตรีตุ๊บเก่งออกแสดง อาทิ ใช้นำขบวนแห่ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ และล่าสุดในกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีที่จะถึงนี้ ที่บริเวณองค์พระใหญ่ก็จะมีดนตรีตุ๊บเก่งมาแสดงด้วย”นายวิศัลย์กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: