กรุงเทพฯ – ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ตั้งฉายา สภาผู้แทนราษฎร ‘สภาลวงละคร’ ส่วนวุฒิสภา ‘แตก ป. รอ Retire’ วาทะแห่งปีเป็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ‘ดาวดับ’ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สำหรับ ‘ดาวเด่น-คู่กัดแห่งปี-คนดีศรีสภา’ ไม่มีใครได้
วันที่ 27 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา มีมติตั้งฉายาของรัฐสภา ประจำปี 2566 ที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน เพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภ พร้อมเป็นกำลังใจให้ ส.ส. และ ส.ว. ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ให้มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนผู้ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน โดยฉายารัฐสภา ประจำปี 2566 มีดังนี้
ฉายาสภาผู้แทนราษฎร : ‘สภาลวงละคร’
สภาที่มีการชิงไหวชิงพริบ เพื่อเป็นเจ้าของอำนาจ มีการเจรจาจับมือกันหลายฝ่าย โดยในครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีแต่การหักเหลี่ยมเฉือนคม ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร
แม้กระทั่งการหักหลังฝ่ายเดียวกันเอง ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่เคยเป็นฝ่ายเดียวจับมือต่อสู้กันมาก่อน จนถึงขั้นฉีก MOU ซึ่งก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยเล่นตามบทของพรรคอันดับรอง จับมือกอดคอกันอย่างหวานเจี๊ยบ เปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง
ข่าวน่าสนใจ:
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม พร้อมอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
- หญิงไทยเสียชีวิตปริศนา แฟนต่างชาตินอนอยู่กับศพ 3 วัน ตำรวจเร่งสอบหาสาเหตุ
- เพชรบูรณ์ - "ครอบครัวศรีประโค" บริจาคกระจกตาพ่อที่เสียชีวิต หวังช่วยให้ผู้อื่นกลับมามองเห็น
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
ฉายาวุฒิสภา : ‘แตก ป. รอ Retire’
ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาในปี 2565 คือ ตรา ป. ที่ สว.ทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประวิตร แบบไม่มีแตกแถว
แต่ในปีนี้ทั้ง 2 ป. ได้แยกทางกัน ซึ่งในการลงมติเลือกนายรัฐมนตรีที่ผ่านมาสว.ฝ่ายป.ประยุทธ์ ได้ลงมติยอมสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน สวนทางกับป.ประวิตร ที่งดออกเสียง และ สว.กำลังจะหมดอำนาจหน้าที่ในเดือนพ.ค. 2567 จึงเป็นเสมือนการรอเวลาเกษียณ หมดเวลาการทำหน้าที่ สว.
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร : ‘(วัน) นอ-มินี’
เนื่องจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่แย่งชิงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมาก่อน ที่สุดมีความเห็นร่วมกันว่า ใช้โควตาคนนอก พรรคเพื่อไทยจึงเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ขณะนั้น) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ยอมรับ
นายวันมูหะมัดนอร์ จึงเป็นเสมือนนอมินีของการแย่งชิงครั้งนี้ ทั้งที่จำนวนเสียง ส.ส.ที่มี ไม่เพียงพอต่อการชิงตำแหน่ง แต่ก็ถือเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่พรรคพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งยังเคยเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมาก่อนด้วย
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา : ‘แจ๋วหลบ จบแล้ว’
คำว่า ‘แจ๋ว’ เปรียบเสมือนบทบาทของผู้รับใช้ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่าน นายพรเพชร ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า เป็นผู้รับใช้ คสช. แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บทบาทของนายพรเพชร ในฐานะประธานวุฒิสภา พยายามหลบแรงปะทะ ไม่แสดงความเห็นที่เสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งมากนัก รวมถึงไม่ออกสื่อ เพื่อรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระในการทำหน้าที่ ส.ว.6 ปี ในเดือน พ.ค.2567
นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน
ปีนี้ ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นควรงดตั้งฉายา เนื่องจากเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และยังไม่ได้เริ่มทำงานในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร
ดาวเด่น 2566
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นว่า ‘ไม่มีผู้ใดเหมาะสม’ และโดดเด่น เพียงพอที่จะได้รับตำแหน่ง
ดาวดับ 2566
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีความโดดเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งรู้ผลเลือกตั้ง ที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด เดินสายขอบคุณประชาชน พบหน่วยงานต่างๆประหนึ่งว่าเป็นนายรัฐมนตรีแล้ว พลอยให้บรรดาด้อมส้มเรียก นายกฯ พิธา ทำให้เกิดกระแส ‘พิธาฟีเวอร์’
แต่สุดท้าย กลับไปไม่ถึงดวงดาว ‘สภาไม่ได้เหยียบ ทำเนียบไม่ได้เข้า’ เนื่องจากศาลรับธรรมนูญสั่งแขวน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จากคดีหุ้นไอทีวีที่ยังลูกผีลูกคน จึงเป็นดาวที่เคยจรัสแสง แต่ตอนนี้ได้ดับลงแล้ว
วาทะแห่งปี 2566
เป็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นชี้แจงคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ว่า
“เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราเป็นพรรคอันดับสองมีความยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล และถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับสองสามารถที่จะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมือง และรัฐธรรมนูญมันปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญแบบนี้เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิดเพราะว่ายิ่งเราจับมือกันยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้”
เหตุการณ์แห่งปี : ‘เลือกนายกรัฐมนตรี’
ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีมากถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 13 ก.ค.66 ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ คือ นายพิธา แต่ปรากฎว่าได้รับความเห็นชอบไม่ถึง 376 เสียง ทำให้มีการโหวตเลือกผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.66
แต่ปรากฎว่า ที่ประชุมรัฐสภากลับถกเถียงกันถึงข้อบังคับการประชุม ว่าจะสามารถเสนอรายชื่อ นายพิธาซ้ำได้หรือไม่ เนื่องจากมีความเห็นว่าญัตติที่เสนอชื่อ นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีตกไปแล้ว ไม่สามารถนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ แม้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดลงมติตามข้อตามข้อบังคับที่ 151 แต่เสียงกึ่งหนึ่งเห็นว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้
จากนั้น ช่วงเช้าของวันที่ 21 ส.ค.66 นายชัยธวัช ตุลาธน ได้แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น นพ.ชลน่าน ในนามของพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวจับมือตั้งรัฐบาลเพื่อไทย 314 เสียงกับ 11 พรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรครัฐบาลเดิม ในสมัยของพล.อ.ประยุทธ์
เป็นเหตุให้วันที่ 22 ส.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ ได้นัดประชุมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 3 โดยมีการเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สุดท้ายก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยเสียง 482 เสียง ต่อไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
คู่กัดแห่งปี
ปีนี้ ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ลงมติควรงดตั้งฉายาคู่กัดแห่งปี เนื่องจากเพิ่งเปิดสมัยประชุมได้เพียงสมัยเดียว และเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงยังไม่มีใครเป็นคู่กัดที่ชัดเจน มีเพียงการปะทะคารมในบางเหตุการณ์เท่านั้น
คนดีศรีสภา 2566
สื่อมวลชนประจำรัฐสภา มีความเห็นร่วมกันว่า ‘ยังไม่มี ส.ส. หรือ ส.ว.คนใด เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่ง’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: