อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จัดงานสืบสานประเพณีบุญคูณลาน ประจำปี 2567
วันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ลานหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด นายวิเชียร สุดาทิพย์ นายอำเภอเมืองร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดงานสืบสานประเพณี บุญคูณลาน ประจำปี 2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน จาก 14 ตำบล ในอำเภอเมืองร้อยเอ็ดร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
ข่าวน่าสนใจ:
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
- โหดเหี้ยม!หนุ่มถูกมีดฟันยับดับกลางถนน คาดทะเลาะในวงเหล้า
- นครพนม เปิดคลิป วัยรุ่น เหิมหนัก ยกพวกใช้มีดไล่ฟันคู่อริ พร้อมทุบทำลายทรัพย์สินอย่างไม่เกรงกลัวกฏหมาย
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
นายจักรพงษ์ กุนันท์ ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอเมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า บุญคูณลาน สู่ขวัญข้าว ภาคอีสานนอกจากจะเป็นแหล่งข้าวชั้นดีของไทยแล้ว ยังเป็นแหล่งสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับข้าวอันหลากหลาย โดยหนึ่งในนั้น คือ ประเพณี “บุญคูณลาน”หรือการสู่ขวัญข้าวของชาวอีสาน
คำว่า “คูณ”หมายถึง เพิ่ม หรือทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า “ลาน”คือ สถานที่กว้างๆ สำหรับนวดข้าว ซึ่งการนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า “คูณลาน” สำหรับประเพณีบุญคูณลานจัดขึ้นในเดือนยี่ หรือในเดือนมกราคม ตามปฏิทินอีสานของทุกปี ทำให้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่างาน “บุญเดือนยี่”ซึ่งการทำบุญคูณลานของแต่ละพื้นที่จะไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าวว่าจะเสร็จเมื่อไร วันที่จะขนข้าวขึ้นเล้า (ฉางข้าว) จะเป็นวันทำบุญคูณลานและทำที่นานั่นเลย
ก่อนที่จะทำการนวดข้าวนั้นให้ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานเสียก่อน และบอกกล่าวแม่โพสพโดยมีเครื่องประกอบพิธี อาทิ ใบคูณ ใบยอ ยาสูบ เขาควายหรือเขาวัว หมาก ไข่ ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น จากนั้นเมื่อพร้อมแล้วก็จะบรรจุลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า”ขวัญข้าว”ก่อนเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ แล้วจึงนำเครื่องประกอบพิธีบางส่วน ไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว (กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐาน หลังอธิษฐาน แล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอมข้าวออกมานวดก่อน แล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง ก่อนขนขึ้นยุ้งเจ้าของจะต้องไปเก็บเอาใบคูณและใบยอเสียบไว้ที่เสายุ้งข้าว ทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดว่าขอให้ค้ำคูณยอ ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และเชิญขวัญข้าวและแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย
การจัดงานครั้งนี้แสดงให้เห็นจิตวิญญาณของชุมชน ที่ดำรงอยู่ด้วยวิถีเกษตรกรรมมาช้านาน ด้วยสำนึกในบุญคุณของข้าวที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนทุกคน นอกจากนี้เป็นการแสดงออก ถึงพลังแห่งความร่วมแรงร่วมใจของชุมชน เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณที่กล้าแกร่งของชาวนา โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน มีวัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบไป และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอเมืองร้อยเอ็ด กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีบวงสรวงแม่โพสพ สู่ขวัญข้าว การแสดงวัฒนธรรมศิลปะพื้นบ้านของตำบลต่างๆทั้ง 14 ตำบลการจัดนิทรรศการและผลงานศูนย์จัดการกองทุนชุมชน บ้านป่าเพิ่มหมู่ที่ 11 ตำบลสะอาดสมบูรณ์ ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 การจัดนิทรรศการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคกหนองนา อำเภอเมืองร้อยเอ็ด
การแสดงและจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP ของชาวอำเภอเมืองร้อยเอ็ด การประกวดแข่งขันตำส้มตำลีลา เป็นต้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: