พังงา-หาดูยาก ชาวอำเภอกะปงสืบสานประเพณีโบราณ ทำบุญให้ทานไฟเพิ่มความอบอุ่นให้พระสงฆ์ในช่วงหน้าหนาว
เมื่อเวลา 05.30 น.วันที่ 13 มกราคม 2567 ที่วัดโฆษิตาราม (วัดกะปง) อ.กะปง จ.พังงา นายธรรมเนียม บำรุง นายอำเภอกะปง นำพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอกะปงร่วมสืบสานประเพณีทำบุญให้ทานไฟ ประจำปี 2567 โดยมี นายอุทิศ ลิ่มสกุล ผอ.ททท.สำนักงานพังงา น.ส.อุไรวรรณ แดงงาม วัฒนธรรมจังหวัดพังงา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ เด็ก เยาวชนและประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งนายอำเภอกะปงได้นำกล่าวถวายทานไฟ และเริ่มจุดกองไฟบนลานวัด จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์เดินเวียนรอบกองไฟ 3 รอบ ต่อด้วยการแสดงของกลุ่มสตรี จากนั้นประธานในพิธีนำเด็ก ๆ และผู้มีเกียรติร่วมเดินชมและชิมอาหารคาวหวานที่ชาวบ้านและหน่วยงานต่างนำมาร่วมงานเกือบ 100 ชนิด การประกวดจัดซุ้มอาหาร การมอบทุนการศึกษา และรับประทานร่วมกัน สำหรับประเพณีทำบุญให้ทานไฟนี้ นับว่าเป็นประเพณีที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน
นายรณพล ขวัญเซ่ง กำนันตำบลกะปง กล่าวว่า สมัยพุทธกาลในฤดูหนาวของประเทศอินเดีย อากาศหนาวเย็นมาก พระภิกษุสงฆ์ที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาตามวัด และตามสถานที่ต่าง ๆ ประสบกับความทุกข์ยาก จากอากาศที่หนาวเย็น ด้วยมีผ้าครองเพียง 3 ผืน คือ สบง จีวร และสังฆาติ ประชาชนที่พบเห็นสงสารในสาวกของพระพุทธองค์ จึงได้ก่อกองไฟถวายพระภิกษุเหล่านั้นใช้ผิงให้เกิดความอบอุ่น คนรุ่นหลังได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นประเพณี เรียกว่า “ประเพณีให้ทานไฟ” ในช่วงใกล้รุ่ง และเห็นว่าเหลือเวลาไม่มากก็จะสว่าง ประชาชนจึงคิดหา เผือก มัน แป้ง ข้าวต่าง ๆ นำมาเผามาย่างไปถวายเป็นภัตตาหารให้พระภิกษุด้วย ปัจจุบันได้วิวัฒนาการมาเป็นการก่อกองไฟถวายพระภิกษุ และทำขนมคาวหวานต่าง ๆ ตามความถนัดของแต่ละบ้านแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำมาถวายพระไปพร้อมกัน
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับงานประเพณีให้ทานไฟของอำเภอกะปง เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี และจัดต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 31 เนื่องด้วยชาวอำเภอกะปงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งมีผลดีต่อการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรมตามหลักทางพระพุทธศาสนา และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อปลูกฝังศีลธรรมจริยธรรมที่ดีแก่เด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ในส่วนของอาหาร เครื่องดื่ม และขนมที่ทำมานอกจากถวายพระแล้วยังแจกจ่ายให้กับเด็ก ๆ และผู้มาร่วมงานรับประทานฟรี โดยส่วนใหญ่จะเป็นขนมพื้นบ้านประจำถิ่นซึ่งปรุงขึ้นมาใหม่ ๆ ทั้งหมด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: