กรุงเทพฯ – อธิบดีกรมการจัดหางาน เตือน รู้ทัน! ผู้แอบอ้างชื่อหน่วยงานราชการพร้อมโลโก้ รับสมัครงานผ่านสื่อโซเชียล หลงเชื่อ เสี่ยงเสียทรัพย์-โดนรีดข้อมูลส่วนบุคคล
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ขณะนี้พบผู้โฆษณาชวนเชื่อทางสื่อสังคมออนไลน์และโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ และยูทูบ ประกาศรับสมัครผู้รับงานไปทำที่บ้าน ลักษณะเป็นงานอิสระ งานฝีมือ งานแพ็กสินค้า สามารถรับอุปกรณ์ไปทำที่บ้านได้ อ้างว่ารายได้ดี ไม่มีค่าใช้จ่าย มักแอบอ้างชื่อหน่วยงานราชการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
ล่าสุด อธิบดีกรมการจัดหางาน เจอมิจฉาชีพสวมรอยเป็นตัวเอง โดยการนำภาพอธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมตราสัญลักษณ์กรมการจัดหางาน (Logo) ไปแอบอ้าง
ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นความจริง หากหลงเชื่ออาจทำให้เสียทรัพย์ หรือโดนรีดข้อมูลส่วนบุคคลนำไปใช้ในทางมิชอบได้
จึงขอฝากถึงผู้ที่ประสงค์รับงานไปทำที่บ้าน สามารถติดต่อได้ที่
♦ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10
♦ ติดต่อสอบถามได้ที่ กองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โทร.02 245 1317
♦ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ข่าวน่าสนใจ:
- ททท. จัดงานใหญ่ "วิจิตรเจ้าพระยา 2024" สวยงามตระการตา กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปีนี้
- ปัญหาที่ท้าทายของ “กรมชลประทาน” กับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนการเกิดอุทกภัยใน “พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง”
- ททท.เชิญชม แสง สี สวยงามอลังการ “VIJIT CHAO PHRAYA 2024” วันนี้-15 ธค. ฟรี
- ตร.ตรังเข้ม ปราบอาชญากรรม จับอาวุธปืน-รถซิ่ง-ท่อแต่ง ของกลางเพียบ ผู้การตรังลงมือขับแบ็คโฮนำทำลายด้วยตัวเอง
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ กล่าวอีกว่า กรมการจัดหางานไม่นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการตอบโต้และเอาผิดกลุ่มมิจฉาชีพทันที โดยดำเนินการ 3 ด้าน คือ
1.ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และตอบโต้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่โพสต์ชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานทั้งในและต่างประเทศ ทันทีที่พบเห็น และจะนำข้อความแจ้งเตือน (แบนเนอร์โฆษณาสื่อออนไลน์) ไปโพสต์โต้ตอบใต้โพสต์ดังกล่าว
2.ประสานงานกับ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ Anti Fake News เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากความเข้าใจผิด และนำข่าวที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อ
3.การดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กรมการจัดหางานดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้วถึง 131 ราย พบการหลอกลวงคนหางาน 232 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 16 ล้าน 787,622 บาท โพสต์ตอบโต้ ชี้แจง พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง รวม 2,170 ครั้ง
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวด้วยว่า ผู้ที่นำเข้าข้อมูลเท็จ ตามพระราชบัญญํติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ.2482 ที่ห้ามมิให้บุคคลใดใช้ หรือปลอม หรือเลียนแบบ เครื่องหมายราชการ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: