ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านเกาะพยาม เพื่อตรวจสอบพื้นที่และแก้ไขปัญหากรณีนักเรียนเดินลุยน้ำไปเรียนหนังสือตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน
นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วยนางสุพิณญา นิรามัยวงศ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ผู้อำนวยการสำนักสำนักงานจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านเกาะพยาม ต.เกาะพยาม อ.เมืองระนอง จ.ระนอง เพื่อตรวจสอบพื้นที่ตามที่ได้ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย
กรณีที่นักเรียนต้องเดินลุยน้ำไปเรียนหนังสือ สาเหตุเนื่องจากเจ้าของโครงการไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการก่อสร้างสะพานข้ามคลองระหว่างโรงเรียนกับชุมชนชาวมอร์แกน โอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองและคณะ ได้รับฟังข้อเท็จจริงจากนายมนัส สักขาพรม ผู้อำนวยการการโรงเรียนบ้านบางกลาง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะพยาม และผู้ปกครอง พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้นักเรียนมอร์แกนจำนวน 39 ราย และมอบอุปกรณ์การเรียนให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดระนองและคณะ ได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่ปรากฎเป็นข่าวเด็กนักเรียนต้องทูนกระเป๋าไว้บนศรีษะเดินลุยน้ำไปเรียนหนังสือและเดินทางกลับบ้านหลังจากเรียน ซึ่งจุดดังกล่าวมีโครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองระหว่างฝั่งโรงเรียนกับหมู่บ้านชาวมอร์แกน ระยะทางประมาณ 150 เมตร แต่การก่อสร้างต้องหยุดชะงักเนื่องจากเจ้าของโครงการไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตการใช้พื้นที่ป่าชายเลนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบด้วย
นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า จากการพูดคุยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเบื้องต้น โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำเรือมาให้บริการจำนวน 1 ลำ ส่วนทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง ได้ทำโป๊ชั่วคราว เพื่อให้นักเรียนใช้ข้ามฝั่งไปเรียนและกลับจากเรียนหนังสือ จากนั้นทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ประสานกับภาคเอกชน เพื่อให้นักเรียนและพี่น้องประชาชนสามารถใช้สะพานในลักษณะชั่วคราวไปก่อน โดยจะก่อสร้างเป็นสะพานไม้บนโครงสร้างของสะพานคอนกรีตเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ส่วนในระยะยาวก็ต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตามกฎหมาย การขออนุญาตใช้พื้นที่ การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติให้อนุญาตก่อสร้างสะพานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรเช่นกัน./////
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: