นครพนม : ชาวบ้านร้อง สะพานข้ามห้วยบังกอ พังซ้ำซากนานกว่า 6 ปี ไร้ผู้เหลียวแล วอนเจ้าของโครงการเร่งซ่อมแซมด้วย
เมื่อวันที่ 20 ม.ค 2567 ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม ได้เข้าร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวกรณีสะพานข้ามห้วยบังกอบริเวณปากห้วยที่จะไหลลงแม่น้ำโขง ช่วงบ้านกุดข้าวปุ้น หมู่ 3 ต.ขามเฒ่า ซึ่งเป็นถนนรวมทั้งเลนจักรยาน เชื่อมรอยต่อกับ ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม สภาพพังค้างเติ่งไม่สามารถใช้การได้หลังสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่กลางปี 2560 และจากการเปิดใช้ได้เพียง 1 เดือนเศษ สะพานได้พังถล่มลงมาได้รับเสียหายตั้งแต่กลางสะพานไปถึงคอสะพานฝั่งทิศใต้ จนไม่สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสิ้นเชิง
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
ต่อมาทางผู้รับเหมาได้เร่งทำการซ่อมแซมแก้ไขเนื่องจากยังอยู่ในระยะรับประกันผลงาน จนกลับมาเปิดใช้งานได้เพียงไม่นาน กระทั่งช่วงราวปี 2562 สะพานก็เกิดการยุบตัวและพังถล่มลงมาอีกครั้ง ชาวบ้านต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทางผู้รับเหมาได้ก่อสร้างตามแบบที่กำหนดและใช้วัสดุที่ได้มาตรฐานหรือไม่ หรือการสำรวจออกแบบของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองมีปัญหากันแน่
นายไมตรี อุ่นอาจ อายุ 57 ปีชาวบ้านกุดข้าวปุ้น ม.3 ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม และเคยเป็นคนงานก่อสร้างสะพานแห่งนี้ให้ข้อสังเกตุ ถึงสาเหตุที่สะพานข้ามห้วยบังกอแห่งนี้พังถล่มลงมา อาจมีสาเหตุจากการเปิดประตูน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำจากห้วยบังกอลงสู่แม่น้ำโขงอย่างเต็มที่ ทำให้กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก จนกัดเซาะตอม่อและเสาเข็มจนไม่สามารถต้านกระแสน้ำได้
นางบรรจง เหล่ากูล อายุ 74 ปีชาวบ้านกุดข้าวปุ้น กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้ตนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หลังจากที่สะพานพังถล่มลงมา ทำให้ การไปมาหาสู่กับลูกหลานและเดินทางไปที่นาซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับลำห้วยบังกอเพียง300เมตรไม่สามารถไปมาได้อีกเลย ทุกวันนี้หากจะไปนา ต้องขับขี่รถอ้อมไปไกลกว่าสี่ถึงห้ากิโลเมตร โดยเฉพาะพื้นที่บ้านกุดข้าวปุ้น มีเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกต้นหอมและปลูกผักหลายชนิด ต้องได้รับผลกระทบในการสัญจรเพราะเสียเวลาต้องอ้อมไกล จึงขอวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเร่งซ่อมแซมให้สะพานให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว.
แหล่งข่าวรายหนึ่งที่ไม่ขอบอกชื่อ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มี เจ้าหน้าที่จากสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่มาสำรวจตรวจสอบความเสียหายแล้ว แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณ ซึ่งจากสภาพปัจจุบันสะพานอาจต้องมีการรื้อและทำใหม่ขึ้นมาทั้งหมดจึงจำเป็น ต้องตั้งงบประมาณก่อสร้างใหม่อีกครั้ง ถึงจะทำให้เส้นทางที่จะผ่านสะพานแห่งนี้ กลับมาใช้งานได้อีกครั้งหนึ่ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: