ตรัง-“พัชรวาท” ลงตรังด่วน! สำรวจวิกฤตหญ้าทะเล เคาะ 3 มาตรการเร่งด่วน แก้ปัญหาหญ้าทะเลเมืองตรังเสื่อมโทรม ห่วงกระทบชีวิตพะยูน-สัตว์ทะเลหายาก พร้อมจับมือเอกชนตั้งสถาบันวิจัยฯ เพื่อเพิ่มจำนวนพะยูนอย่างยั่งยืน ด้าน “ปิ่นสักก์” เผยเพิ่มลาดตระเวนเฝ้าระวังอุบัติเหตุ – สร้างเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก เซอร์ไพรส์ เจอ “ไอ้ลาย” พะยูนดาวดังเกาะมุกด์ กำชับเยาวชนรณรงค์อย่าทิ้งขยะลงทะเล
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จังหวัดตรัง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ เดินทางลงพื้นที่บ้านเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เพื่อติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม และรับฟังปัญหาของชาวบ้าน และตรวจเยี่ยมงสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยมีนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม นายสันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมให้การต้อนรับ
ทั้งนี้พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ลงเรือสปีทโบ๊ทกรมทช. สำรวจแนวหญ้าทะเลโดยรอบ และพบกับเต่าทะเลตัวใหญ่หนักหลายสิบกิโลกรัมกำลังว่ายน้ำ ก่อนจะปล่อยทุ่นลอยธงพื้นที่คุ้มครองพะยูน-หญ้าทะเล และเขตชะลอความเร็วเรือ หว่านเมล็ดพันธุ์หญ้าทะเล แจกกล้าพันธุ์หญ้าคาทะเลแก่เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ปล่อยพันธุ์ปูม้าจากธนาคารปูม้า ชมสาธิตการช่วยชีวิตพะยูนเกยตื้น ตลอดจนรับฟังรายงานสถานการณ์วิกฤตหญ้าทะเล รับฟังปัญหาจากเครือข่ายประมงพื้นบ้าน และพบปะกับกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์พะยูน โดยก่อนเดินทางกลับพล.ต.อ.พัชรวาทได้เจอเซอร์ไพรส์เห็นพะยูนตัวเป็นๆเป็นครั้งแรกในชีวิต เป็นพะยูนเพศผู้ตัวเต็มวัยและเป็นดาวเด่นของเกาะมุกด์ชื่อ “ไอ้ลาย” ที่มักปรากฎตัวอยู่เป็นประจำ จึงยืนดูอยู่บริเวณสะพานท่าเทียบเรืออย่างสนใจพร้อมควักมือถือออกมาถ่ายรูปอยู่เป็นเวลานาน ก่อนจะกับชับกับกลุ่มเยาวชนนักอนุรักษ์ในพื้นที่ว่า ให้ช่วยกันรณรงค์เรื่องการไม่ทิ่งขยะลงทะเลด้วย
นายสันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง ได้รายงานสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม สันนิษฐานจากหลายสาเหตุ อาทิ การกัดกินของเต่าทะเล โรคที่เกิดในหญ้าทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สันดอน ร่องน้ำ การเครื่องย้ายของตะกอน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นต้น
ข่าวน่าสนใจ:
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จังหวัดตรังมีแหล่งหญ้าทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และจะต้องมีความสมบูรณ์ในอันดับ 1 ตลอดไป ทั้งนี้หญ้าทะเลที่มีมากอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หาดหยงหลำ เกาะมุกด์ และพื้นที่อ่าวขาม รวมทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง จังหวัดตรัง เมื่อต้นเดือน ก.พ. เริ่มมีแนวโน้มที่หญ้าทะเล ที่จ.ตรัง ลดลง ต้องรีบฟื้นฟูจึงไม่ได้นิ่งนอนใจสั่งการให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการแก้ไขในระยะสั้นอย่างเร่งด่วน และวางแผนฟื้นฟูในระยะยาว เนื่องจากหญ้าทะเลสำคัญสำหรับวงจรชีวิตเป็นแหล่งอาหาร ธรรมชาติสำหรับสัตว์น้ำขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพะยูนและเต่าทะเล ที่ประเทศไทยต้องอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกในอนาคต ทั้งนี้ได้กำหนด 3 มาตรการ เพื่อฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล อาทิ 1. กำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล 2.การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตามรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ3.กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเล ป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลอย่างไม่ถูกวิธี หาก 3 มาตรการดังกล่าวดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อได้ว่าแหล่งหญ้าทะเล จังหวัดตรัง สามารถฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์ได้
“หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูหญ้าทะเล คือ ความร่วมมือในการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง หากทุกภาคส่วนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเต็มที่ต่อเนื่อง หญ้าทะเลจะกลับมาสมบูรณ์และไม่เข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์อีกต่อไปและยืนยันว่าจะทำให้หญ้าทะเลจังหวัดตรังกลับมาสมบูรณ์ให้ได้”
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า ส่วนการเพิ่มจำนวนพะยูนอย่างยั่งยืน ได้มีดำริให้จัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก เป็นโครงการที่กระทรวงทรัพย์ฯ ลงนามบันทึกความร่วมมือกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งสถาบันวิจัยจะเป็นหน่วยงานหลักในการอนุรักษ์พะยูนฯ และประสานแนวทางการบริหารจัดการอนุรักษ์พะยูนครบวงจรในทุกมิติ จะสามารถดูแลและอนุรักษ์พะยูนได้อย่างดี ขอเพียงให้พวกเราทุกคนมีความตระหนักในการอนุรักษ์พะยูน และมีการปลุกจิตสำนึกของสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนช่วยดูแลพะยูนให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป ที่ผ่านมาขอชื่นชมพี่น้องประชาชนใน จ.ตรัง นักท่องเที่ยว และภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะทะเล ที่สำคัญต้องขอขอบคุณสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ที่ร่วมกันจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก เพื่อช่วยดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะพะยูนและหญ้าทะเลให้สมบูรณ์อยู่คู่กับทะเลตรังสืบไป
ด้านนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ให้เป็นรูปธรรม พร้อมกับประชุมหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และกำหนดแนวทางการจัดการในรายละเอียด ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชุมชนและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเผยแพร่ข่าวสารองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญ้าทะเลสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับ เมื่อประสานการดำเนินการในระยะสั้นแล้ว กรมฯ จะรีบกำหนดนโยบายหรือมาตรการฟื้นฟูหญ้าทะเลอย่างถาวร เพื่อให้หญ้าทะเลสามารถฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ รวมถึง การบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นรายพื้นที่ ซึ่งจะมีการศึกษาเพื่อกำหนดเขตเขตรักษาพืชพันธุ์ ออกจากเขตการใช้ประโยชน์เช่นเขตอนุญาตสำหรับกิจกรรมประมงพื้นบ้าน รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ การฟื้นฟูหญ้าทะเล ที่สำคัญคือจะมีแนวทางการอนุรักษ์พะยูน สร้างกลุ่มและขยายเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก กับชุมชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มการลาดตระเวนคุ้มครองเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ในการเฝ้าระวังพะยูน และแหล่งที่อยู่อาศัยและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุทางทะเลต่อพะยูน ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญที่ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: