นกขนาดเล็ก หลายชนิดนับหมื่นตัวอพยพหนีหนาวมาจากประเทศจีน และไซบีเรีย มาอาศัยหากินอยู่ในทุ่งสามร้อยยอด เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว ระบุว่า นกเหล่านี้มาอยู่เกือบ 1 เดือนแล้ว และปีนี้มีเป็นจำนวนมากกว่าทุกปี เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด
(วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567) บริเวณทุ่งสามร้อยยอด บ้านาปุ่ม หมู่ 2 ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเกรียงไกร ทิมแท้ หัวหน้าหน่วยศึกษาธรรมชาติบึงบัว อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พร้อมด้วยนายนิรุตต์ ท้าวโกษา นักดูนกกลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง ได้เดินทางไปยังบริเวณพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งอยู่ริมถนนทางหลวงชนบท สายบ้านหน้าป้อม-อบต.สามร้อยยอด หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านที่จับสัตว์น้ำในพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ว่ามีนกเป็ดน้ำจำนวนมาก บินมาลงหากินอาศัยอยู่ในทุ่งสามร้อยยอดตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ถึงกระทั่งเย็นเป็นจำนวนมาก จึงได้เดินทางไปติดตามจนกระทั่งพบว่า ในทุ่งสามร้อยยอดบริเวณจุดดังกล่าวซึ่งมี นกเป็นจำนวนมากอยู่ในบริเวณในทุ่งซึ่งยังคงมีน้ำจืดขังอยู่รวมทั้งพืชน้ำนานาพันธุ์ทั้ง ธูปฤาษี แห้วทรงกระเทียม และพืชน้ำชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด
นายเกรียงไกร ทิมแท้ หัวหน้าหน่วยศึกษาธรรมชาติบึงบัว อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด แลพกลุ่มนักดูนกเด็กรักษ์ทุ่ง ได้นำกล้องส่องนกและคู่มือดูนกมาดูพบว่า นกดังกล่าวนั้นเป็น เป็ดลาย และเป็ดหางแหลม อพยพย้ายถิ่นหนีหนาวมาจากจากประเทศจีน และ ไซบีเรีย มาอาศัยอยู่ในบ้านเราเนื่องจากช่วงนี้อากาศร้อน เป็นนกขนาดเล็กถึงกลาง ตัวผู้หัวสีน้ำตาลเข้ม คิ้วสีขาว สีขนบริเวณส่วนอื่น ๆ สีน้ำตาลเข้ม ช่วงไหล่เป็นลายแถบยาว สีขาวและดำ ท้องสีขาวตัดกับสีของอก ซึ่งมีสีน้ำตาลเข็มชัดเจน ตัวเมียเป็นสีน้ำตาล คิ้วสีขาวเช่นเดียวกัน ปากมีจุดกลมเล็ก ๆ สีขาวโดยเฉพาะบริเวณโคน บริเวณคาง คอหอย และท้องสีขาว อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หากินช่วงเย็นที่อากาศไม่ร้อน กลางวันจะลอยน้ำบ้างก็ยืนพักผ่อนหรืออยู่ตามชายน้ำและใช้ปากเล็กๆแหลมจิกกินอาหารสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมทั้งบางช่วงก็จะพากันบินเป็นฝูง ย้ายลงแหล่งน้ำในทุ้งที่ใกล้ๆกัน ส่วนช่วงเย็นก็จะพากันบินกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในทุ่งสามร้อยยอดด้านในที่มีต้นธูปฤาษี และแห้วทรงกระเทียม ส่วนช่วงเช้ามืดก็จะบินมาลงในจุดเดิม ซึ่งเข้าหน้าที่บอกว่าจากกข้อมูลที่สอบถามชาวบ้านที่ออกจับสัตว์น้ำในทุ่งสามร้อยยอด บอกว่าเป็ดลาย บินมาอาศัยอยู่ที่จุดนี้นานเกือบ 1 เดือนแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่ามีทั้งเป็ดลาย และเป็ดหางแหลมนับหมื่นตัว ซึ่งปีนี้มีนกอพยพมามากกว่าทุกปี รวมทั้งยังมีนกกาน้ำดำ นกยางโทน และนกอีกหลายชนิดรวมอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว มาติดตามเป็นระยะๆ รวมทั้งประสานงานพูดคุยให้ชาวบ้านที่ออกจับสัตว์น้ำช่วยกันดูแลอนุรักษ์นกอพยพเหล่านี้ด้วย โดยสถานภาพ เป็นนกอพยพ และสัตว์ป่าคุ้มครอง
ในส่วน เป็ดหางแหลม ซึ่งมีจุดเด่นตรงหางที่เรียวแหลมจนเป็นที่มาของชื่อพวกมัน เป็นนกเป็ดน้ำชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์เป็ด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anas acuta เป็ดหางแหลมมีความยาวประมาณ 56 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 500-800 กรัม ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกัน ตัวผู้จะมีหัวและคอสีน้ำตาลเข้ม อกสีขาว ลำตัวสีเทา หางยาวปลายแหลม ตัวเมียจะมีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน มีลายขวางสีน้ำตาลเข้มกระจาย
นายนิรุตต์ ท้าวโกษา นักดูนกกลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง กล่าวว่าในพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งเป็นพื้นทุ่งน้ำจืดขนาดใหญ่ การที่มีนกอพยพเข้ามาอาศัยพักพิงเป็นจำนวนมากนั้นถือเป็นดัชนีบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์น้ำชนิดต่างรวมทั้งสัตว์น้ำ ตลอดจนอาหารของนกนานชนิด สำหรับนักท่องเที่ยว กลุ่มที่ชื่นชอบดูนกช่วงนี้ก็สามารถเดินทางไปยังจุดที่จะพบเห็นเป็ดลาย เป็ดหางแหลม ได้ตลอดทั้งวันในพื้นที่หมู่ 2 บ้านนาปุ่ม ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กันได้ทุกวันและต้องเตรียมกล้องดูนกและอุปกรณ์กันแดดไปให้พร้อม หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: