ในแต่ละวัน ผู้คนใช้ชีวิตเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย จึงจำเป็นต้องใช้เวลาหลับพักผ่อนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมร่างกายให้พร้อมสำหรับเริ่มต้นชีวิตในวันถัดไป แต่สำหรับโรงไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้านั้น ไม่อาจที่จะหลับพักผ่อนได้เช่นเดียวกับมนุษย์ เพราะต้องทำงานหรือเดินเครื่องอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อผลิตไฟฟ้าสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ให้ทุกชีวิตสามารถขับเคลื่อนภารกิจของตนเองได้ และนี่คือ ภารกิจที่สำคัญที่สุดของโรงไฟฟ้า
ตลอดช่วงเวลาของอายุใช้งานของโรงไฟฟ้า หรือกว่า 25 – 30 ปี นั้น คงมีไม่กี่ครั้งที่โรงไฟฟ้าจะได้หยุดพัก และทุก ๆ ครั้งของการหยุดพัก ก็ไม่สามารถมีช่วงเวลาหยุดพักที่ยาวนานได้ เพราะทุกวินาทีมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่หากโรงไฟฟ้าไม่ได้หยุดพัก เพื่อรับการดูแลบำรุงรักษา ก็ไม่อาจผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตอบสนองกับความต้องการของทุก ๆ คนได้ งานบำรุงรักษาจึงสำคัญเคียงคู่กับโรงไฟฟ้าเสมอ
โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี ซึ่งทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เมื่อถึงคราวที่ต้องหยุดเดินเครื่อง เพื่อบำรุงรักษาครั้งใหญ่ตามวาระ หรือที่เรียกว่าการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน จึงต้องเร่งระดมทีมบำรุงรักษามาช่วยกันเพื่อให้เสร็จโดยใช้เวลาน้อยที่สุด
“เราใช้เวลาไม่ถึง 40 วันในการซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ทุกทีมบำรุงรักษา กฟผ. กว่าร้อยชีวิต ไม่ว่าจะด้านไฟฟ้า เครื่องกล โยธา รวมไปถึงเคมี ต่างรวมใจกันเป็นหนึ่ง เร่งมือซ่อมบำรุงรักษาให้ได้เร็วที่สุด หรือเร็วกว่าแผนได้ก็ยิ่งดี เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ โรงไฟฟ้ากลับไปทำหน้าที่เช่นเดิมให้ได้เร็วที่สุด” หนึ่งในทีมบำรุงรักษามากประสบการณ์เล่าไปพลางปาดเหงื่อระหว่างการซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ
นั่นหมายถึง ทุก ๆ งานบำรุงรักษาตามวาระที่ได้มีการกำหนดและเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้านั้น ทีมงานบำรุงรักษาทุกด้านจะต้องวางแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อม ทั้งการเปลี่ยนอะไหล่ ปรับปรุงระบบ ซ่อมแซมชิ้นส่วน ฯลฯ เพื่อให้โรงไฟฟ้ามีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดความผิดปกติก่อนบำรุงรักษา ซึ่งการบำรุงรักษาเชิงป้องกันนี้ จะช่วยลดการเกิดความเสียหายอาจที่ลุกลามไปสู่การหยุดเดินเครื่องได้
“บางวันพวกเราช่วยกันทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ เพราะหลายครั้งเราต้องเผชิญกับปัญหาหน้างานที่ไม่อาจคาดเดาได้ พวกเราจึงมีหน้าที่ทำให้ทุกวินาทีที่หยุดเดินเครื่องเป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด”
ภาพที่เห็นสะท้อนถึงพลังแห่งความร่วมแรงร่วมใจของทีมบำรุงรักษาของ กฟผ. เพราะเพียงแค่อุปกรณ์ Turbine Rotor อุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่เป็นแรงขับ หรือต้นกำลังให้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กว่าจะซ่อมเสร็จแต่ละครั้ง ต้องอาศัยกำลังคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการถอดประกอบ เปลี่ยนอุปกรณ์โดยทีมด้านเครื่องกล ซ่อมแซมเครื่องจักรโดยทีมด้านอะไหล่ ปรับปรุงระบบไฟฟ้าด้วยทีมด้านไฟฟ้า ปรับตั้งระดับเครื่องจักรก็ต้องอาศัยทีมด้านโยธา รวมทั้งการตรวจวิเคราะห์สภาพน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องจักร ก็ยังเป็นหน้าที่ของทีมเคมี
34 วันผ่านไป….กระบวนการบำรุงรักษาเสร็จสิ้น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือสามารถกลับมาเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะพลังแห่งความร่วมมือในงานบำรุงรักษา ระหว่างส่วนผสมที่ลงตัวของทีมด้านไฟฟ้า เครื่องกล อะไหล่ โยธา รวมไปถึงด้านเคมี ซึ่งนำไปสู่การเป็น “พลังที่ไม่มีวันหลับ”
ยืนหยัดเพื่อรักษาความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของไทย นับเป็นความภาคภูมิใจของ กฟผ. ในการดำเนินภารกิจผลิตไฟฟ้ามาจวบจน 55 ปี
ไม่เพียงแต่ระบบผลิตไฟฟ้าที่มีความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเท่านั้น ยังมีฟันเฟืองสำคัญอีกหลายส่วน ทั้งเชื้อเพลิงที่ต้องจัดหาให้เพียงพอเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ระบบส่งที่ต้องส่งผ่านพลังงานไฟฟ้า และอีกหลายภารกิจงานที่ร่วมกันขับเคลื่อนความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ซึ่งเรื่องราว Unseen เช่นนี้จะนำมาเล่าให้ทุกท่านได้ทราบในครั้งหน้า ฝากติดตามด้วยนะครับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: