X

ตรัง เลี้ยง “ไก่ขาวดอกแค” ไก่พื้นเมืองแดนใต้สายพันธุ์ใหม่สร้างรายได้ดี

ตรัง- เกษตรกรอาชีพเลี้ยงหมูหันเลี้ยงไก่ขาวดอกแค ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองที่เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นอาชีพเสริม เลี้ยงง่าย ใช้เวลาน้อย เนื้อแน่น นุ่ม ไม่เหนียว รสชาติอร่อยเป็นที่ต้องการของตลาดมีเท่าไรไม่พอขาย โดยเฉพาะร้านอาหาร

นางสาวเสาวภา วรรณบวร เกษตรกรซึ่งประกอบอาชีพหลักคือ เลี้ยงหมู ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้แบ่งพื้นที่บริเวณฟาร์มเลี้ยงหมูจำนวน 1 เล้า เพื่อเลี้ยงไก่ขาวดอกแค ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นไก่พื้นเมืองแดนใต้สายพันธุ์ใหม่ เพื่อเป็นอาชีพเสริมจากการเลี้ยงหมู เนื่องจากการเลี้ยงหมูขณะนี้ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ทำเกษตรกรขาดทุนต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสูง ราคาอาหารแพงและถูกตีตลาดจากหมูนอกระบบ โดยเกษตรกร บอกว่า ตนเองสั่งซื้อลูกพันธุ์ไก่ขาวดอกแคมาจาก มทร.ศรีวิชัย (เกษตรไสใหญ่) จ.นครศรีธรรมราช มาเลี้ยงเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว รวมจำนวน 120 ตัว โดยราคาลูกพันธุ์อายุ 45 วัน ในราคาตัวละ 35 บาท ปรากฏว่าเลี้ยงง่ายใช้เวลาน้อยก็สามารถจับขายได้เป็นที่ต้องการของตลาด ลูกค้าจะสั่งซ้ำจำนวนมาก ส่วนราคาขายไก่ขาวดอกแคถือว่าราคาดี และเลี้ยงง่ายโตเร็วกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป ทำให้อัตราการแลกเนื้อของไก่ขาวดอกแคดีกว่าไก่พื้นเมืองธรรมดา ทำให้ความคุ้มทุนระหว่างไก่ขาวดอกแคกับไก่พื้นเมือง ไก่ขาวดอกแคคุ้มทุนกว่าเพราะเลี้ยงใช้เวลาสั้นกว่า

ทั้งนี้ หลังจากรับลูกไก่มาเลี้ยงประมาณ 2 เดือนครึ่ง ก็สามารถจับขายได้ หากเป็นไก่พื้นเมืองจะต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4-5 เดือน จึงจะจับขายได้ ส่วนราคาขาย หากขายไก่เป็นทั้งตัวกิโลกรัมละ 100 บาท แต่หากชำแหละขายกิโลกรัมละ 130 บาท โดยน้ำหนักไก่ขาวดอกแค ที่เป็นที่นิยมคือ น้ำหนักประมาณ 1.8 – 2 กิโลกรัม โตเต็มที่น้ำหนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารต้องการเป็นจำนวนมาก แต่ตนเองมีไม่พอขาย เพราะไก่ขาวดอกแค อกจะเต็มกว่า มีความเหนียว นุ่ม รสชาติอร่อยกว่าไก่พันธุ์พื้นเมือง ตอนนี้คนเลี้ยงยังน้อย ในพื้นที่ อ.ห้วยยอดมีเลี้ยงเพียง 2 รายเท่านั้น รวมทั้งตนเอง ตลาดต้องการเยอะมาก หลังจากนี้ตนเองจะขยายคอก เพื่อเตรียมเลี้ยงรุ่นต่อไปให้ได้ประมาณ 150 ตัว ต่อรุ่น ซึ่งการเลี้ยงไก่ขาวดอกแคนอกจากเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว เกษตรกรยังเลี้ยงง่ายระยะสั้นกว่าเลี้ยงไก่พื้นเมืองทั่วไป และไก่เนื้อ รายได้จึงดีกว่าจับขายได้เร็ว

สำหรับไก่ขาวดอกแค เกิดจากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จากไก่ศรีวิชัย ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองอัตลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ทีมผู้วิจัยต้องการให้ไก่มีอกใหญ่ เนื้อแน่น นุ่ม ไม่เหนียว โตไว และยังคงรสชาติแบบไก่พื้นเมือง “ไก่ขาวดอกแค” มาจากดอกแคฝรั่ง ซึ่งเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของชาวเกษตรไสใหญ่ รวมทั้งตัวไก่มีขนสีขาวเหมือนดอกแคถูกปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ที่ มทร.ศรีวิชัย (เกษตรไสใหญ่) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรนำไปเลี้ยงเสริมเพิ่มรายได้ในครัวเรือนและเป็นไก่ทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค ทั้งนี้ ร้านอาหารสามารถนำไปทำเป็นเมนูแสนอร่อยได้หลากหลาย เช่น ไก่ขาวนึ่งซอส ไก่ขาวแกงกะทิหน่อไม้ดอง ไก่ขาวตุ๋นยาจีน ไก่ขาวแกงคั่วพริก ไก่ขาวอบซอสสมุนไพร และข้าวมันไก่ขาว หรือจะทำเป็นเมนูไก่ทอด สเต็กไก่ขาว สลัดไก่ขาว เป็นต้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน