ตรัง-เพจดัง เผยภาพพะยูนผอม ที่เกาะลิบง ชาวเน็ตเศร้าสงสารพะยูน ดร.ธรณ์-ชาวบ้านเกาะลิบง จี้แก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมไม่พอกิน กรมทะเลฯ แจง ปี 67 เกยตื้นตาย 3 ตัว รับซากพะยูนผอมผ่าพิสูจน์หาสาเหตุแล้ว ยันเร่งเดินหน้าแก้วิกฤตหญ้าทะเลตรัง ระดมนักวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่อีก10-19 มี.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวดตรังว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ” ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบแสนคน ได้โพสต์ภาพพะยูนที่มีสภาพผอม ว่ายอยู่อยู่บริเวณใกล้กับชายหาด บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นแหล่งอยู่อาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ฝูงสุดท้ายของประเทศไทย โดยเพจโพสข้อความระบุว่า “จะร้องแล้ว พะยูนผอมมาก ท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง ไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอคับ หญ้าก็หาย ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้ป่าว หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉยๆ สภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ ขอความสนใจหน่อย ปีนี่ตายไปหลายตัวแล้วนะ” พร้อมกับแท็กไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งเพจสื่อสำนักต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ มีชาวเน็ตได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นห่วงใยกันเป็นจำนวนมาก อาทิ หวังว่าข่าวนี้คงทำให้คนทั่วไปและสื่อกระแสหลักตื่นตัวขึ้นมาได้บ้าง เรื่องสัตว์ทะเลหายาก เรื่องสิ่งแวดล้อมกระทบต่อคนในวงกว้าง เรื่องพะยูนตาย + หญ้าทะเลเสื่อมโทรมที่เกาะลิบง ไปถึงตรัง กระบี่ จริงๆ ทั้งชาวบ้านลิบงและกรมทะเลเค้าร้องไห้มาซักพักแล้ว และพยายามทำงานกันมาโดยตลอดนะคะแต่ครั้งนี้มันหนักมากจริงๆ และตั้งแต่ต้นปีก็มีคณะทำงานเฉพาะเร่งด่วนลงไปแก้ไขเรื่องความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล เห็นรายชื่อแล้วเรียกว่าระดับ Avengers ทางทะเลเลย เท่าที่ถามหัวหน้าทีมเรื่องนี้มา ปัญหาใหญ่ๆ ที่ทำให้หญ้าตายและส่งผลหนักถึงพะยูน ตะกอนก็ส่วนหนึ่ง เหตุการณ์ระดับน้ำที่ลดลงมากผิดปกติ แต่หลักๆ ปีนี้คือ climate change โลกร้อนหนักมาก เช่นเดียวกับที่ส่งผลให้ ปะการังฟอกขาว , ขอเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ กลุ่มพิทักษ์ดุหยง กรมทช. เจ้าหน้าที่ คณะทำงานที่กำลังลงพื้นที่ลงมือ แก้ไข รู้ว่าเรื่องนี้มันไม่ง่ายเลย ขอให้หาทางออกเจอ และ ฟื้นฟูหญ้าทะเลและพะยูนกลับคืนมา , สงสารน้อง , สัตว์อนุรักษ์และสัตว์สงวนเสียด้วย ช่วยกันแชร์ครับให้หน่วยงานต่างๆเข้าไปดูแล , ที่อาศัย ไม่ควรให้คนไปรบกวน อาหารไม่พอกิน ต้องหาทางแก้ไขด่วน , ปลูกหญ้าไม่ใช้ คำตอบแล้วถ้าต้นเหตุยังคงอยู่ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เพจ “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” ได้มาโพสชี้แจงว่า “เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. จนท.ทชได้รับแจ้งเหตุพบพะยูนเกยตื้นจากเครื่อข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ได้เดินทางไปรับซาก พะยูนที่เกยตื้นบริเวณเกาะลิบง เพื่อนำกลับมาชันสูตร หาสาเหตุการตายเมื่อทราบสาเหตุแล้วจะนำมาแจ้งให้ทราบครับ ในปี พ.ศ.2567 จังหวัดตรังพบพะยูนเกยตื้น 3 ตัว สำหรับในส่วนของปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งคณะดังกล่าวได้ลงพื้นที่ เพื่อมาเก็บข้อมูล รวมทั้งได้พูดคุยกับชาวบ้านชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รวมทั้งได้วางแผนลงพื้นที่อีกครั้งในวันที่ 10-16 มีนาคม เพื่อหาสาเหตุของการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็วที่สุด” ขณะที่นายสันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง เข้ามาโพสชี้แจงด้วยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ประสานไปยังกรมเจ้าท่า ซึ่งกรมเจ้าท่าได้หยุดทำการทิ้งตะกอน ในทะเลตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 แล้วครับ
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง สับปะรดทอด-ข้าวเม่าทอด ดาวเด่นประจำร้านสมพร รสชาติอร่อย ราคาเป็นกันเอง
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
นายสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้พะยูนผอมที่เกยตื้นตายดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการผ่าพิสูจน์โดยทีมสัตวแพืย์เพื่อหาสาเหตุ ส่วนกรณีโซเชี่ยงมีเดียเพจตรังบางเพจ โพสข้อมูลระบุปีนี้จังหวัดตรังมีพะยูนเกยตึ้นตายกว่า 10 ตัวแล้วนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนโดยอาจจะเป็นตัวเลขข้อมูลในปีอื่นๆ ยืนยันว่าพะยูนผอมที่เกยตื่นตายวันนี้ นับเป็นตัวที่ 4 ตั้งแต่ต้นปี 2567
ด้านผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ว่า ขออธิบายเรื่องพะยูนผอมตาย โดยนำข้อมูลและการทำงานมาบอก พื้นที่หญ้าทะเลมีปัญหา ตอนนี้คือตรังและกระบี่ (ศรีบอยา) ผลกระทบกว้างมาก ยังลามไปถึงบางพื้นที่ในอ่าวไทย อีกทั้งยังมีรายงานสถานการณ์ในต่างประเทศ จึงเชื่อว่ามาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่แปรปรวนเนื่องจากโลกร้อนทะเลเดือด โดยเฉพาะปีที่แล้วที่น้ำทะเลร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ (ปีนี้กำลังจะร้อนกว่า) ยังรวมถึงปรากฏการณ์น้ำแห้ง ฯลฯ เฉพาะพะยูน ข้อมูลล่าสุด ปี 2566 มีพะยูนอยู่ที่ตรัง 194 ตัว เกาะศรีบอยา 26 ตัว รวมแล้วมีพะยูน 220 ตัวที่อยู่ในพื้นที่มีปัญหา คิดแล้วเป็น 78% ของพะยูนทั้งประเทศ การสำรวจพะยูนทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตรัง/กระบี่ เส้นทางการบินสำรวจมาให้ดู เอาเฉพาะเกาะศรีบอยา กระบี่ จะเห็นว่าเราต้องบินถี่ยิบเพื่อครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ใช้เวลา 5-6 วัน เรายังต้องทำแบบนี้ที่ตรัง ตลอดชายฝั่ง ลิบง เกาะมุกต์ ฯลฯ ข้อมูลคร่าวๆ ที่พอบอกได้คือปีนี้พะยูนกระจายตัว ไม่ค่อยรวมฝูง ซึ่งก็แน่นอน เพราะหญ้าเหลือน้อย รวมกันกินไม่มีทางพอ เรายังพบแม่ลูกไม่มาก ซึ่งก็แน่นอนอีกเช่นกัน เพราะหากตัวเองกำลังอด คงไม่อยากมีลูก ธรรมชาติสัตว์เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะวิกฤตหญ้าทะเลที่เกิดจากโลกร้อน มันไม่ได้ง่ายๆ ต่อการเข้าใจและแก้ไขฟื้นฟู คงได้แต่หวังถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณให้กรมทะเลเต็มกำลัง ไม่เช่นนั้น เกิดปัญหาก็คงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามถึงประเด็นดังกล่าวไปทางนายอาส่าน คนขยัน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า พะยูนมีรูปร่างผอมลงจริงเนื่องจากขาดแคลนหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารหลัก พบว่ามีหญ้าทะเลตายมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว โดยเครือข่ายหรือว่าชมรมที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันเรื่องนี้ เพราะส่วนหนึ่งเชื่อว่าสาเหตุที่หญ้าทะเลตายเกิดจากสาเหตุการขุดร่องน้ำทำให้ตะกอนทรายไปทับถมแหล่งหญ้าทะเลทำให้แหล่งหญ้าทะเลเสียหาย ไปประมาณ 80% ส่วนกระแสที่บอกว่าเต่าทะเลแย่งกินอาหารของพะยูน ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ทำให้หญ้าทะเลเสียหายหนักถึงเพียงนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์พะยูน ได้มีการตื่นตัวผลักดันทำ CSR ปลูกหญ้าทะเลในแหล่งหญ้าทะเลของจังหวัดตรังเพิ่มมากขึ้นเพื่อหวังว่าจะเพิ่มจำนวนหญ้าทะเลได้
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: