เชียงใหม่ – จังหวัดเตรียมงัดยาแรง จับดำเนินคดีมือเผา พร้อมเร่งดึงคนออกจากป่า แก้ปัญหาลอบเผา เล็งขอความร่วมมือทำงานที่บ้าน หลังหมอกควัน-ฝุ่นพิษ ยังวิกฤตต่อเนื่อง
วันที่ 8 มีนาคม สภาพอากาศที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงวิกฤตทั่วทั้งจังหวัดอยู่ท่ามกลางหมอกควันและมลพิษเป็นวันที่สาม ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานทุกอำเภอ สูงสุดรายชั่วโมงอยู่ที่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว 509 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ เกินค่ามาตรฐานแตะ 100 ไมโครกรัมต่อลุกบาศก์เมตร ทุกจุด
เว็บไซต์ IQ Air ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับดัชนีคุณภาพอากาศโลก จัดอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด พบว่า วันนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากเมืองเดลี ประเทศอินเดีย โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 188 AQI อยู่ในระดับสีแดง
หมอกควันและมลพิษที่สะสมมานานกว่า 60 ชั่วโมง เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดทั้งวัน อย่างพ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับข้าง คนขี่รถสามล้อ และคนขับรถสองแถวแดงรับจ้าง ที่ต่างบอกว่า 2-3 วันมานี้ ลูกค้าแทบไม่มี เพราะคนหลบฝุ่นควันออกจากบ้านน้อยลง รายได้จึงลดลง แต่ยังจำเป็นต้องออกมานั่งสูดฝุ่นควันทั้งวัน จนตอนนี้เริ่มมีอาการไอ แสบคอ แต่ก็ต้องทน เพราะหยุดอยู่บ้านก็ขาดรายได้
ข่าวน่าสนใจ:
เล็งใช้ยาแรง จับดำเนินคดีคนเผาป่า ขอความร่วมมือ Work from hom
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เข้าดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และให้คำแนะนำประชาชน พร้อมวางแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน พิจารณาเวิร์คฟรอมโฮม (Work from home : ทำงานจากที่พัก) ตามความเหมาะสมของแต่ละหน่วยงาน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ขอความร่วมมือประชาชนยังคงงดเผา เพื่อลดการสร้างมลพิษซ้ำเติม
ด้านศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินคดี ที่จะมีการบังคับใช้กฎหมาย ผู้ที่ละเมิดประกาศห้ามเผาของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้บังคับใช้กฎหมายเข้ามาร่วมด้วย อาทิ อัยการจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ผู้เชี่ยวชาญจากคณะนิติศาสตร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ลงนาม
เร่งดึงคนออกจากป่า
นอกจากนี้ ยังเร่งติดตามมาตรการการ ‘ดึงคนออกจากป่า’ ซึ่งเป็นโครงการจัดหางานให้ประชาชนที่มีอาชีพหาของป่า ล่าสัตว์ โดยให้ฝ่ายปกครองทั้ง 25 อำเภอ จัดทำทะเบียนไว้แล้วกว่า 4,000 คน เบื้องต้น สามารถจัดจ้างได้ประมาณ 2,445 คน ซึ่งทั้งหมดมีค่าตอบแทนให้คนละ 9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้างงาน 75 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม ถึง 30 พฤษภาคม 2567 เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ซึ่งเป็นผู้ที่รู้สภาพภูมิประเทศในพื้นที่เป็นอย่างดี มาร่วมกันลาดตระเวนและดับไฟป่า มีรายได้อย่างยั่งยืน ไม่กลับไปหาของป่าล่าสัตว์อีก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: