X

ผจก.ไฟฟ้าตรังแจงแล้ว ยึดนโยบายกกพ.ตัดไฟ ปัดไม่มีต่ำกว่า 300 บาทเดือนเดียวตัด ยอมรับมีเออเรอร์คนเตือนกับคนใช้ไม่เจอกัน จ้างเอกชนได้ค่าตัดลูกละ 50 บาทจริง แต่ตัดตามระบบไม่ได้ใช้ดุลพินิจเอง

ตรัง-ผจก.ไฟฟ้าตรังแจงแล้ว ยึดนโยบายกกพ.ตัดไฟ เสียงแข็งไม่มีต่ำกว่า 300 บาทเดือนเดียวตัด ยอมรับมีเออเรอร์ คนเตือนกับคนใช้ไฟไม่เจอกัน เผย จ้างเอกชนภายนอกดำเนินการ ได้ค่าตัดลูกละ 50 บาทจริง แต่ตัดตามระบบแจ้งไม่ได้ใช้ดุลพินิจเอง ยันคนส่งใบเตือน-คนตัด คนละบริษัท วอนประชาชนอย่าค้าง รับจ่ายค่าไฟทุกวันตลอด 24 ชม.พร้อมติดตั้งคืน 24 ชม.เช่นกัน ชาวบ้านงัดหลักฐานยอดไม่ถึง 300 บาทค้างเดือนเดียวตัดจริง ไม่เว้นชมรมคนพิการ ไม่แจ้งเตือนก่อน วอนเห็นใจลำบากมาก ต้องนั่งวีลแชร์ไปจ่าย 

จากกรณีปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้ไฟฟ้า ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ และมนุษย์เงินเดือน ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจ.ตรัง หลังการไฟฟ้ามีนโยบายใหม่ให้บริษัทเอกชนมารับเหมาตัดไฟ ยกมิเตอร์ไฟฟ้า หากพบใครค้างจ่ายตั้งแต่บิลเดือนแรกจะเข้าบิลเดือนที่ 2 โดยใช้วิธีการ ตัด ยกมิเตอร์ทันที ไม่ว่าเจ้าของบ้านจะอยู่ หรือไม่อยู่บ้านก็ตาม ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มบ้านอยู่อาศัยใช้ไฟไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน แม้จะมีนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสายด่วน หมายเลข 1129 PEA Contact Center โดยการตั้งเสียงรอสายว่า “PEA สนองนโยบายกระทรวงมหาดไทย ขยายระยะเวลาการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 3 บิลเดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เริ่มต้นโครงการตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าเดือนพฤศจิกายน 2566 – พฤศจิกายน 2567 สอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลข 1129 PEA Contact Center” ทำชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะถูกตัด ถอดมิเตอร์ โดยชาวบ้านตั้งข้อสังเกต กฟภ.จ้างผู้รับเหมา มีค่าดำเนินการถอดมิเตอร์ลูกละ 50 บาทมีผลให้เร่งถอดหรือไม่ โดยผู้สื่อข่าวพยามติดต่อขอสัมภาษณ์นายสมมาศ พุฒิพงศกร ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง ถึงกรณีที่เกิดขึ้นแต่ได้รับการปฏิเสธมาก่อนหน้านี้ และขอเลื่อนการชี้แจงเพื่อขอเวลาในการเตรียมข้อมูลก่อน ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

คืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง นายสมมาศ พุฒิพงศกร ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง ได้นัดผู้สื่อข่าวเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง ซึ่งรับผิดชอบ อำเภอเมือง อำเภอสิเกา และอำเภอนาโยง ต่อกรณีการงดจ่ายไฟ ว่า สาเหตุที่ออกมาชี้แจงล่าช้า เพราะต้องตรวจสอบข้อมูลและสภาพหน้างานที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเอามาประมวลผล และต้องประสานกับผู้บังคับบัญชาในส่วนกลาง เพื่อจะสื่อสารข้อมูลต่างๆ ทั้งนี้ ขอชี้แจงให้เห็นภาพใหญ่ของโครงสร้างการกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการพลังงานแห่งชาติ(กกพ.)ว่าหน่วยงานไหนกำกับบ้าง และกฟภ.ได้นำแนวทางนโยบายของกกพ.ในเรื่องการงดจ่ายไฟ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือประชาชนของหน่วยกำกับดูแลมาแปลงเป็นแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติงาน ซึ่งทุกนโยบายรวมทั้งมาตรการต่างๆกฟภ.ได้นำมาสู่วิธีการปฏิบัติ โดยในขั้นตอนการออกใบแจ้งหนี้ กระทั่งการงดจ่ายไฟนั้น เริ่มจากการจดบันทึกการใช้ไฟ การอ่านหน่วยและออกใบแจ้งหนี้ โดยกำหนดระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าภายใน 10 วัน นับจากวันที่ลงใบแจ้งหนี้ หลังจากนั้นมีการกำหนดขยายเวลาตัดไฟ ณ จุดชำระบริการอีก 3 วัน ต่อด้วยการส่งหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ไฟทราบ ตามมติกกพ.อีก 7 วัน รวมระยะเวลาก่อนงดจ่ายไฟเป็นเวลา 21 วัน หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการงดจ่ายไฟ

นายสมมาศ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีชาวบ้านใช้ไฟไม่เกิน 300 บาทต่อเดือนแต่โดนตัดในรอบบิลเดียว หรือค้าง 1 เดือนตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ยืนยันว่า การไฟฟ้ามีการออกแบบโปรแกรมการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ มีความมั่นคงสูง เพื่อดึงข้อมูลของผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาท ออกไปไว้ในอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อนกันไว้เป็นเซฟโซนที่สามารถค้างค่าไฟได้ 3 บิลเดือนตามนโยบายบรรเทาความเดือนร้อนประชาชน จากการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด ยืนยันว่ายังไม่มีพี่น้องประชาชนกลุ่มใดที่ใช้ไฟ 300 บาทต่อเดือนที่ได้รับมาตรการผ่อนผัน 3 บิลเดือน แล้วเรามางดจ่ายไฟ ยืนยันไม่มีเลยในพื้นที่ ส่วนคนที่ถูกงดจ่ายไฟนั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ 300 บาททุกราย แต่ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ในเรื่องของผู้ที่ค้างบิล 3 เดือน แล้วเจ้าตัวคิดว่าทยอยจ่ายเป็นขยักเองได้และไม่ได้มาติดต่อขอผ่อนผันกับสำนักงาน โดยอาจจะโอนชำระทีละเดือน แต่ในระบบยังดำเนินการสู่การงดจ่ายไฟอยู่ หรือเจ้าตัวอาจไม่เจอใบแจ้งเตือน จึงทำให้เข้าสู่กระบวนการงดจ่ายไฟ

นายสมมาศ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ใช้ไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง อำเภอเมือง อำเภอสิเกา และอำเภอนาโยง รวมทั้งหมด 96,600 ราย ในรอบ 6 เดือน มีผู้ใช้ไฟที่ชำระกระแสไฟฟ้า 1 บิลเดือนตามกำหนด เฉลี่ย 95,119 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.4 ส่วนผู้ใช้ไฟที่ถูกงดจ่ายไฟเฉลี่ย 1,481รายต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ จึงอยากเรียนไปยังประชาชนผู้ใช้ไฟว่า ก่อนที่จะถูกงดจ่าย ประชาชนสามารถผ่อนผันการจ่ายได้ 7 วัน ถ้า 7 วันแล้วยังไม่มีเงินจ่าย ก็ขอให้เข้ามาติดต่อดำเนินการผ่อนชำระหนี้ได้ โดยผู้ใช้ไฟรายย่อยสามารถติดต่อทำเอกสารลายลักษณ์อักษรขอผ่อนจ่ายได้ในระยะ 3 เดือน วงเงินผ่อนจ่ายต่อเดือนไม่จำกัด หลังรับใบแจ้งหนี้แล้วอย่ารอให้ถึงกระบวนการแจ้งเตือน หรือกระบวนการงดจ่ายไฟ ถ้าท่านมีความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินยังไม่พร้อมจ่ายค่าไฟ ก็เข้ามาติดต่อขอผ่อนชำระได้ อำนาจผู้จัดการไฟฟ้าอนุมัติผ่อนชำระได้ไม่จำกัดวงเงิน

นายสมมาศกล่าวว่า สำหรับกระบวนการงดจ่ายไฟ กฟภ.ได้ว่างจ้างผู้รับจ้าง (Outsource) เพื่อดำเนินการออกไปงดจ่ายไฟ ส่วนใหญ่จะหลังวันที่ 20 หรือวันที่ 21 ของเดือน ก็จะออกไปติดตาม ซึ่งกลุ่มเอกชนดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมาแล้ว ผ่านการฝึกอบรม ทำหน้าที่เสมือนเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเอง เราจึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ส่วนการตั้งข้อสังเกตเรื่องค่าดำเนินการ 50 บาทในการงดจ่ายไฟมีผลทำให้พนักงานเร่งงดจ่ายไฟหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่จริง แต่ยอมรับว่ามีค่าดำเนินการ 53.5 บาท เนื่องจากเอกชนต้องเดินทางไปปฏิบัติงาน มีค่าน้ำมัน ค่ายานพาหนะ แต่การงดจ่ายไฟนั้นดำเนินการโดยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ของกฟพ.มีหน้าที่เพียงใช้รหัสส่วนตัวล็อกอินเข้าไปเพื่อดึงข้อมูลรายที่ต้องงดจ่ายไฟออกมาแล้วสั่งออเดอร์ให้เอกชนรับไปดำเนินการต่อเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้ดุลพินิจในการงดจ่ายไฟเองแน่นอน อย่างไรก็ตามยอมรับว่า การใช้คนไปทำงาน อาจมีความเออเรอร์ จากกรณีที่พนักงานส่งใบเตือนกับตัวผู้ใช้ไฟไม่ได้เจอกัน ซึ่งส่วนใหญ่ในเวลากลางวัน ประชาชนจะไปทำงาน ไม่อยู่บ้าน แต่เรามีระบบให้มีการถ่ายภาพการส่งใบแจ้งเตือนหน้าบ้านส่งกลับมาทุกราย แต่ยืนยันว่า พนักงานส่งใบแจ้งเตือน กับพนักงานงดจ่ายไฟเป็นคนละบริษัทกัน

“ขอประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนว่า หากประชาชนถูกตัดไฟ และถูกยกมิเตอร์ไปแล้ว ถ้าเป็นวันหยุดก็ยังสามารถไปติดต่อชำระและขอต่อไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง ณ ที่ทำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ เพราะการไฟฟ้าจะมีเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุฉุกเฉินไฟฟ้าขัดข้อง ซ่อมแซมไฟฟ้าประจำการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถติดต่อชำระได้ตลอด ไม่ใช่ว่าถูกตัดไฟแล้วติดวันเสาร์ -อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์แล้วไปจ่ายไม่ได้ เมื่อไปจ่ายแล้วเจ้าหน้าที่จะไปติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าให้ภายใน 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน”ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง บางรายที่ถูกงดจ่ายไฟ มีหลักฐานชัดเจนมาแสดงต่อผู้สื่อข่าว โดยบางรายใช้ไฟเดือนละ 153 บาท แต่ยังถูกตัดไฟตั้งแต่เดือนแรก และบางหลังไม่มีคนอยู่ เดือนเดียวค้าง 8.76 บาท ก็ถูกตัดไฟด้วย นอกจากนั้น ณ ที่ทำการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจ.ตรัง พบว่าประชาชนจำนวนมากตื่นตัวเดินทางมาจ่ายค่าไฟกันไม่ขาดสาย โดยเท่าที่สอบถามพบว่าส่วนใหญ่เป็นค่าไฟเดือนปัจจุบัน หรือเพียงเดือนเดียวก็รีบเดินทางมาจ่าย เพราะกลัวจะมีการตัดไฟโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า แต่ก็มีบางรายที่เป็นค่าไฟเดือนปัจจุบันแต่จำนวนเงินมากกว่า 300 บาท และได้รับใบแจ้งเตือนแล้วจึงรีบเดินทางจ่ายเช่นกัน เพราะกลัวจะถูกตัดไฟ ขณะที่บางรายถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปติดตามทวงถามและไม่ได้จ่ายในเวลากำหนด จึงรีบเดินทางมาจ่ายและต้องจ่ายบวกเพิ่มอีก 50 บาทเป็นค่าติดตามทวงถาม ทั้งนี้ ชาวบ้านบางราย (เสื้อยืดคอปกไทยแลนด์) สะท้อนว่า เมื่อก่อนสามารถค้างได้ถึง 3 เดือน ก็จะมาจ่ายครั้งหนึ่ง โดยจะจ่ายครั้งละ 2 เดือน แต่ครั้งนี้ไม่ได้แล้ว ค้างจำนวน 2 เดือน เป็นเงินรวม 2,017 บาท ก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปถึงบ้านและตนอยู่พอดี โดยบอกกับตนว่า ขอให้ตนไปจ่ายหากอีก 2 วันยังไม่ไปจ่ายจะตัดหม้อไฟ ตนจึงถามว่าอีก 2 วันหรือ ทำไมตนไม่ได้รับหนังสือแจ้งเตือน สุดท้ายก็ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่เอกชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ซึ่งการที่มีบริษัทเอกชนทำงาน ไม่ดีกับประชาชน พอครบกำหนดก็ตัดเลย รัฐบาลมีนโยบายออกมาก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่ทำการชมรมคนพิการเทศบาลนครตรัง นางสาวสุกานดา สุริยะรังสี (นั่งวิลแชร์) ประธานชมรมคนพิการเทศบาลนครตรัง เปิดเผยว่า ที่ทำการชมรมฯ ปกติทุกคนจะช่วยกันประหยัดไฟ เพราะมาทำงานและลงพื้นที่แบบเช้ามาเย็นกลับ ไม่ได้พักที่ชมรมฯ แต่ละเดือนใช้ไฟแค่ 100 กว่าบาท ไม่เคยถึง 200 บาท และมีบางเดือนใช้ไฟแค่ 80 บาท แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ทำการชมรมฯถูกตัดไฟ เพราะค้างค่าไฟเดือนละ 100 กว่าบาทเท่านั้น เป็นเวลา 2 เดือน รวมเป็นเงิน 300 กว่าบาท แต่พอถูกตัดไฟต้องจ่ายเพิ่มอีก 107 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมดกว่า 400 บาท ซึ่งเงินที่จ่ายเพิ่มอีก 100 กว่าบาท สำหรับกลุ่มคนพิการมีความหมายมาก เพราะพวกตนสามารถเอาไปซื้อสิ่งของจำเป็นช่วยเหลือผู้พิการในเขตที่พวกตนดูแลได้ เจ้าหน้าที่มาตัดไฟขณะที่พวกตนทุกคนลงพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่น ไม่มีใครอยู่ชมรมฯ แต่ที่หน้าบ้านจะมีป้ายแขวนไว้พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เจ้าหน้าที่มาก็ตัดไฟเลยโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้พวกตนซึ่งเป็นคนพิการลำบากมาก เพราะต้องนั่งวีลแชร์บ้างหากจะไปติดต่อชำระ ต้องมีคนช่วยหามไป ลำบากมาก อยากขอความเห็นใจขอให้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า หรือมาถึงหน้าบ้านก็โทรหาพวกตนก็ได้ จะได้โอนในทันที จะได้ไม่ถูกตัดไฟ เพราะลำบากในการไปติดต่อที่ไฟฟ้า ขอให้เจ้าหน้าที่เห็นใจด้วย

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน