ตรัง-เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในกระชังทุกข์หนัก มีการนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซียมาขายตีตลาดกก.ละไม่เกิน 90 บาท ทำปลากะพงคุณภาพของเกษตรกรตรังซึ่งเลี้ยงปลาคุณภาพธรรมชาติให้อาหารเป็นเหยื่อปลา ต้นทุนสูงคงค้างในกระชังขายไม่ได้หลายร้อยตัน วอนรัฐเร่งแก้ปัญหาการนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซีย ทำลายเกษตรกรไทย เลิกเลี้ยงชั่วคราวแล้วจำนวนมาก
เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในกระชังในบริเวณชายฝั่งทะเลหลายอำเภอในจ.ตรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.กันตัง จ.ตรัง รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่หมู่ 3 บ้านแหลม ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง กำลังเป็นทุกข์อย่างหนักกับปัญหาปลากะพงที่เลี้ยงเอาไว้ในกระชังขายออกไม่ได้ ต้องทนเลี้ยงต่อไปโดยไม่มีกำหนดขาย ซึ่งปลาทั้งหมดที่มีเป็นปลาที่ขนาดหรือน้ำหนักมากกว่าที่เคยเลี้ยงและจับขายในอดีต บางรายต้องทนเลี้ยงมาแล้วนานกว่าปีครึ่ง แต่ยังขายออกไม่ได้ เหตุไม่มีพ่อค้า แม่ค้า ทั้งในพื้นที่จ.ตรังและจังหวัดใกล้เคียงมารับซื้อไปจำหน่ายเหมือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ในราคาถูกแค่ไม่เกินกก.ละ 90 บาท มาตีตลาด ทำปลากะพงคุณภาพปลาธรรมชาติที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในทะเลหน้าหมู่บ้าน ซึ่งเลี้ยงด้วยเหยื่อปลาจากธรรมชาติขายไม่ได้เลย
ทั้งนี้ เกษตรกรบางราย ( สวมเสื้อยืดแขนยาว สีน้ำตาล ตราช้าง 2 เชือก ) บอกว่า วันนี้จับขาย 100 กก. ให้เพื่อนจากจ.กระบี่มาติดต่อช่วยซื้อนำไปทำอาหารงานเลี้ยงที่จ.กระบี่ ในราคากก.ละ 150 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เพื่อนช่วยซื้อ แต่หากเป็นราคาที่ขายทั่วไป พ่อค้าแม่ค้ากดเหลือกก.ละ 130-140 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ขาดทุน โดยปลาของตนเป็นปลาไซส์ใหญ่น้ำหนักตอนนี้ตัวละกว่า 4 กก.แล้ว โดยตนซื้อปลาไซส์ขนาด 700 กรัม จากเพื่อนเกษตรกรมาเลี้ยงต่อเป็นปลาไซส์ใหญ่ รวมจำนวน 3 กระชัง แต่เลี้ยงมานานร่วม 5 เดือนแล้ว แต่ยังขายไม่ได้ คนอื่นๆ ก็เช่นกัน ขายไม่ได้ บางคนเลี้ยงนานเป็นปี หรือปีกว่าก็ยังไม่ได้ขาย น้ำหนักปลาไปถึงตัวละกว่า 10 กก.ก็มี แต่ละรายเดือดร้อนมาก ไม่มีเงินทุนซื้อเหยื่อ ขณะที่เหยื่อ (ปลา) ก็ราคาแพง กก.ละ 15 บาท ต่อวันของตนมี 3 กระชังให้เหยื่อวันละเกือบ 2,000 บาท แต่ละคนมีหลายกระชัง จึงต้องแบกต้นทุนที่หนักมาก วอนรัฐเร่งแก้ปัญหาอย่าให้มีการนำเข้าปลาจากมาเลเซียมาตีตลาด เมื่อก่อนเคยขายได้กก.ละ 180 บาท ตอนนี้ขายไม่ได้เลย เคยประสบปัญหาราคาตกต่ำมาแล้วระลอกหนึ่ง คือ ปี 2564 ราคาตกเหลือกก.ละ 100 บาท มารอบนี้เป็นระลอกที่ 2 ที่ประสบปัญหา
ข่าวน่าสนใจ:
- คึกคัก นาย"บุ่นเล้ง" อดีตนายกอบจ.ตรัง นำทีมนายกบุ่นเล้ง สมัครครบ 30 เขต ท่ามกลางกองเชียร์คับคั่ง
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
นางสาวบุญเรือง แว่นนาค เกษตรกร ( พูดข้างรถกระบะ และในกระชัง) บอกว่า วันนี้ตนเองจับก่อนจำนวน 10 ตัว น้ำหนักประมาณ 3-4 กก.กว่า เอาไปเสนอให้แม่ค้าดูปลาก่อน ขนาด ไซส์ สีของปลาว่าแม่ค้าจะสามารถรับได้หรือไม่ เพราะเขาต้องเอาไปขายต่อ ตอนนี้ปัญหาหนักผู้เลี้ยงปลากะพง คือ ปลาขายไม่ได้ ไม่มีใครมาซื้อ สู้ตลาดไม่ได้ เพราะมีปลาจากประเทศมาเลเซียนำเข้ามาตีตลาดปลากะพงเราในราคาที่ต่ำมากกก.ละ 90 บาท ซึ่งเกษตรกรเราจะขายราคาต่ำเหมือนเขาก็ขายไม่ได้ เพราะขาดทุน ซึ่งปลาที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย ทราบมาว่าเขาเลี้ยงในบ่อดินให้กินอาหาร มีเงินทุนรัฐบาลของเขาช่วยด้วย แต่ปลาของเกษตรกรไทยเราเป็นปลาคุณภาพจากธรรมชาติเราเลี้ยงในกระชังในทะเล มีน้ำทะเลขึ้น-น้ำลง และให้กินเหยื่อปลา ซึ่งเท่ากับเป็นปลาในธรรมชาติ เพราะปลาที่อยู่ในธรรมชาติในทะเลมันก็กินปลาตัวเล็ก ปลาที่ได้จึงเป็นปลาคุณภาพส่งถือมือผู้บริโภค ไม่มีกลิ่นสาป ไม่มีกลิ่นคาว และก่อนจับปลาคนเลี้ยงจะเว้นการให้เหยื่อเป็นเวลา 2 วัน เพื่อล้างท้องปลา ทั้งนี้ เหยื่อปลา หากเป็นหัวปลาราคากก.ละ 10 บาท แต่หากเป็นปลาตัวราคากก.ละ 15 -18 บาท บางช่วงราคาสูงไปถึงกก.ละ 22 บาท ของตนตอนนี้มี 16 กระชัง ค่าเหยื่อวันละกว่า 200 กก.ตกประมาณ 2,500 บาทต่อวัน เพราะให้อาหารวันละมื้อเท่านั้น แต่ตอนนี้บางคนก็ให้วันเว้นวัน บางคนหมดเงินทุนแล้วต้องลากให้เหยื่ออาทิตย์ละมื้อ ส่วนตัววางแผนในการเลี้ยงคือ แบ่งเลี้ยงเป็นรุ่นๆ โดยปล่อยรุ่นหนึ่งแล้วก็จะเว้น 2 เดือน ก็จะลงลูกปลาอีกรุ่น รวมทั้งหมด 3 รุ่น โดยแต่ละรุ่นใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8 เดือน จะได้น้ำหนักตัวละประมาณ 1,200 กรัม ก็สามารขายยกบ่อต่อให้คนที่ซื้อไปเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ ตนวางเผนว่าได้มีปลาไว้หมุนเวียนจับขายได้ทุกๆ 2 เดือน แต่ปรากฎว่าถึงเวลานี้ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นที่ 3 ผิดแผน ไม่ได้ขายเลยมา อายุปลามากสุดตอนนี้เลี้ยงมา 17 เดือน หรือปีครึ่งแล้ว ไม่ได้ขาย น้ำหนักปลาตัวละกว่า 4 กก.โดยปลาค้างอยู่ในบ่อตอนนี้ประมาณ 3,000 -4,000 กก. เงินจมอยู่ในกระชังปลาประมาณ 200,000 -300,000 บาท ไม่มีเงินทุนหมุนไปซื้อเหยื่อแล้ว ต้องยอมขึ้นครั้งละ 4-5 ตัวก็ยอม พยายามช่วยตัวเองจะเอาปลาไปขายที่จ.นครศรีธรรมราช โดย 1 กระชัง ขาย 3 วันก็ขายไม่หมด ค่าน้ำมันด้วยแพง จึงขายไม่ได้ เฉพาะ อ.กันตัง ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับสำนักงานประมงจังหวัดตรังรวม 20 กว่าราย คาดว่ามีปลาค้างอยู่ในบ่อกว่า 100 ตัน ตอนนี้จังหวัดตรังได้งบช่วยเหลือเกษตรกรมาแล้วจำนวนเงินเพียง 200,000 บาทเท่านั้น ขณะที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนถูกต้องไว้100 กว่าราย หากเกษตรกรร่วมโครงการหมดทุกรายจะได้ขายแค่รายละ 40-50 กก.เท่านั้น แล้วปลาที่เหลือของแต่ละคนจะเอาไปไหน เหยื่อก็ต้องให้ทุกวัน ทุกรายเดือดร้อนหนัก หลายรายยอมขายในราคาขาดทุน บางคนจับไปขายขาดทุนถึงจ.ภูเก็ต ในราคากก.ละ 100 บาท จากนั้นก็หยุดเลี้ยงปล่อยกระชังร้างจนตอนนี้ รัฐควรเร่งช่วยเหลืองดการนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซีย
เช่นเดียวกับนายโชติพัฒน์ หวังบริสุทธิ์ เกษตรกร ( เสื้อสีชมพู ในทะเล) บอกว่า ของตนหยุดปล่อยลูกปลารุ่นใหม่มาประมาณ 4-5 เดือนแล้ว ตอนนี้ทยอยจับปลาที่เหลือในกระชังไปเรื่อยๆ ยอมขาดทุน ตอนนี้ท้องตลาดรับซื้อทั้งปลาไซส์ น้ำหนัก 700-800 กรัม และปลาใหญ่น้ำหนัก 1-2 กก.ขึ้นไป ราคาไม่เกินกก.ละ 130 บาท จากเดิมที่เคยขายได้ ปลาไซส์ราคาส่ง กก.ละ 140 บาท ส่วนปลาขนาด 1-2 กก. ราคาไม่ต่ำกว่ากก.ละ 160 บาท แต่ตอนนี้ขายไม่ได้ไม่มีใครมาซื้อ หลายรายจึงหยุดเลี้ยง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: