ชาวบ้านในชุมชนหัวโนนโกและพร้อมพรรณอุทิศ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ยกมือไหว้ท่วมหัว หลังติดตามข่าวทางโซเชียล กรมโยธาฯเด็ดขาด ยกเลิกสัญญาจ้างงานผู้รับเหมาที่ล่าช้า สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน วอนเร่งรีบดำเนินการก่อนถึงฤดูฝนหวั่นน้ำเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ขณะที่ ปปท.เขต 4 ระบุรอไฟเขียวจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เตรียมจัดชุดใหญ่ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในเร็วๆนี้
จากกรณี คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ ปปท.เขต 4 และ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่สอดส่องโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมืองงบ 148 ล้านบาท “สร้าง 7 ชั่วโคตรยังไม่เสร็จ” ร้องเรียนหลายครั้งแล้วก็ยังไม่สร้างต่อ แม้กรมโยธาฯขยายเวลาให้จนใกล้ครบสัญญาแล้ว นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง งบ 39 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน ด้านชาวบ้านแฉซ้ำตั้งแต่ร้องเรียนทั้ง 2 โครงการ ไม่เคยเห็นบริษัทรับเหมามาทำงานก่อสร้างต่อ ทำให้เกิดปัญหาสะสมเรื้อรังมานานกว่า 5 ปี ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเมืองกาฬสินธุ์พังยับกว่า 750 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สอดส่องของคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ ปปท.เขต 4 และ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้พบอีก 8 โครงการที่มาในลักษณะเดียวกัน งบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท ซึ่งทำงานล่าช้า เกินกำหนดในสัญญาและมีการเบิกจ่ายไปบางส่วน ในขณะที่ผู้รับเหมากว่า 50 ราย และชาวบ้าน ผู้ประกอบการ เตรียมตบเท้าแจ้งความเอาผิดบริษัทใหญ่ และวอนกรรมาธิการ ปปช.-ปปง.สภาผู้แทนราษฎร อภิปรายปัญหานี้ในสภาฯ ล่าสุด ปปท.เขต 4 ขอนแก่น สายตรงถึงศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ร่วมสางปัญหา ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 30 มีนาคม 2567 ชาวบ้านในชุมชนหัวโนนโกและบริเวณถนนพร้อมพรรณอุทิศ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ยังจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ ถึงปัญหาความเดือดร้อน ที่เกิดจากการก่อสร้างที่ล่าช้าของผู้รับเหมาที่ได้งานจากกรมโยธาธิการ และผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นปัญาหาคาราคาซังสะสมมากว่า 5 ปีจนทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ต่างตกอยู่ในอาการกล้ำกลืนฝืนทน เพราะไม่ได้รับการแก้ไข ร้องเรียนหลายครั้งไม่เป็นผล เป็นข่าวหลายรอบยังเพิกเฉย จนชาวบ้านรู้สึกน้อยใจ ไม่ต่างกับเป็น “ชุมชนไร้ที่พึ่ง” ไปแล้ว
นายดำ อิ่มเสถียร อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2/2 ชุมชนหัวโนนโก กล่าวว่า ผลกระทบจากโครงการก่อสร้างที่ล่าช้าดังกล่าว หลายหน่วยงานที่ชาวบ้านร้องเรียนไปทราบดี แต่ยังไม่มีการแก้ไขให้เบ็ดเสร็จเรียบร้อยสักที ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านต้องเผชิญกับความเลวร้าย ที่เกิดจากการก่อสร้าง ทำวิถีชีวิตชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ที่เคยอยู่ดีมีความสุข ทำมาค้าขายราบรื่น มีรายได้อย่างน้อยวันละ 1,000 บาท หรือเดือนละ 2-3 หมื่นบาท หลังจากมีโครงการมาลงพื้นที่กลับมีแต่ปัญหา ชีวิตความเป็นอยู่กลับตาลปัตรราวฟ้ากับเหว คุณภาพชีวิต สภาพจิตใจตกต่ำเสียหายลงทุกที เงินที่กู้ยืมมาลงทุนหมุนค้าขายมลายหายไป แถมเกิดหนี้สินพอกพูน เพราะไม่มีรายได้ไปผ่อนส่ง
นายดำกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านในชุมชนหัวโนนโกและบริเวณถนนพร้อมพรรณอุทิศ ซึ่งเป็นบริเวณจุดก่อโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองงบ 148 ล้านบาทของกรมโธยาฯ บอบช้ำและหดหู่หัวใจมาก เพราะร้องเรียนไปกี่ครั้งกี่ที ก็ไม่มีความคืบหน้า แทบจะไม่มีการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้น นี่ก็ใกล้จะถึงฤดูฝนแล้ว ไม่อยากนึกภาพเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น อีกหน่อยถนนสายนี้และทุกครัวเรือนหลังห้างบิ๊กซี คงต้องจมอยู่กับมวลน้ำอย่างแน่นอน เพราะผู้รับเหมามาก่อสร้างได้วางท่อแบบปิดหัวท้ายไว้ งานไม่เดินต่อ น้ำก็ไม่มีทางไหลออก คงเอ่อท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้หลังทราบข่าวจากทางโซเชียล ว่ากรมโยธาจะยกเลิกสัญญาจ้างงานที่ล่าช้า ก็ต้องกราบขอบคุณกรมโยธาฯมากๆด้วย ที่ตระหนักถึงความเดือดร้อน และเป็นความหวังใหม่ของชาวบ้าน ที่จะได้ผู้รับเหมาเจ้าใหม่มาช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน
“หากทางกรมโยธาฯ จะยกเลิกสัญญาจ้างตามที่เห็นในข่าวจริงๆ ถึงแม้ตอนนี้ชาวบ้านไม่ทราบว่ายกเลิกสัญญากับผู้รับเหมารายเดิม เพื่อหาผู้รับเหมารายใหม่ หรือยกเลิกโครงการใดก็ตามที ในนามตัวแทนของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ก็อยากจะฝากความหวังใหม่ และข้อคิดกับกรมโยธาฯ ในส่วนของการพิจารณาคุณสมบัติของผู้รับเหมารายใหม่ ที่จะเข้ามาดีๆ ว่ามีศักยภาพในการทำงานแค่ไหน ใช่นอมินีกลุ่มผู้รับเหมารายเดิมหรือไม่ เพื่อที่จะให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วง สมกับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นเงินภาษีของประชาชน และใช้งบประมาณแผ่นดิน ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด จึงขอให้มีการตรวจสอบดีๆ เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาทิ้งงาน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนซ้ำเติมอีก” นายดำกล่าว
ด้านนายจิรวัฒน์ สุภาพ ผู้อำนวยการ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น กับคณะธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ และคณะ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้ประชุมวางแผนเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนของการตรวจสอบตามลำดับ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงสำนักงานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แล้ว เพื่อขอไฟเขียวชุดใหญ่ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการหารือและกำหนดวันลงพื้นที่
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.67) มีรายงานว่านายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ย้ำให้ใช้มาตรการเข้มข้นในการเร่งรัดการก่อสร้าง มาตรการตัดสิทธิผู้รับจ้างที่ทำงานล่าช้าในการเสนอราคา ขึ้นบัญชี Black list และมาตรการยกเลิกสัญญา ซึ่งโครงการใน จ.กาฬสินธุ์ ที่เป็นข่าว อยู่ระหว่างยกเลิกสัญญา 1 โครงการ และเป็นโครงการที่ได้รับการขยายเวลางดค่าปรับตามมาตรการโควิด-19 และอยู่ในมาตรการเร่งรัดเด็ดขาด เพื่อแก้ไขปัญหาโครงการล่าช้าต่อไป
นายพงศ์รัตน์กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินโดยยังไม่เริ่มทำงานนั้น เป็นการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาที่กำหนดให้ เมื่อผู้รับจ้างลงนามในสัญญาจ้าง จะสามารถเบิกจ่ายเงินจำนวน ร้อยละ 15 ได้ โดยยังไม่ต้องเริ่มทำงาน ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลังกำหนด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: