พลังงานหมุนเวียนกำลังเข้ามามีบทบาทในการระบบไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำที่มีจุดเด่นที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แถมยังช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า จึงนับเป็นพลังงานสีเขียวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และยังเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050
วันนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-Floating Solar Hybrid) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา Unseen EGAT by ENGY จะขอพาทุกท่านไปเจาะลึกโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งใหม่นี้ ด้วยกันครับ
แกร่งกว่าเดิมด้วยการประสาน 3 พลังงานสะอาด
จากผลสำเร็จของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ กฟผ. เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กฟผ. ได้ขับเคลื่อนต่อที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จเป็นแห่งที่สอง ซึ่งโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งใหม่นี้มีความพิเศษยิ่งขึ้น แข็งแกร่งมากขึ้น
โดยเพิ่มการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System – BESS) ขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง เข้าไปในระบบผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริด ทำให้การผลิตไฟฟ้าในช่วงการสับเปลี่ยนระหว่างพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์มีเสถียรภาพสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นับเป็นอีกก้าวสำคัญของโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่ได้ประสาน 3 แหล่งพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และแบตเตอรี่ เข้าไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) และระบบพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) มาควบคุมและบริหารจัดการช่วยลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนและเสริมให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงมากขึ้นด้วย
พัฒนาโรงไฟฟ้าด้วยหัวใจสำคัญ 3 ประการ
ในการเสาะแสวงหาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพัฒนาการผลิตไฟฟ้านั้น กฟผ. ได้ยึดหลัก 3 เรื่องสำคัญ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนา นั่นคือ การพัฒนาพลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพ มีราคาที่เหมาะสม และเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการผสมผสานพลังงานสะอาดเพื่อสร้างเสถียรภาพพลังงานและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยก่อสร้างโรงไฟฟ้าบนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อนของ กฟผ. และใช้อุปกรณ์หลักร่วมกันกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่เดิม ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้ามีราคาที่เหมาะสม
ออกแบบโรงไฟฟ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิ้ลกลาส ป้องกันสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ และทุ่นลอยน้ำชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาการันตีถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ติดตั้งโดยวางแผงโซลาร์เซลล์เป็นมุมเงยประมาณ 10 องศา ทำให้แสงสามารถลอดผ่านลงสู่ใต้ผิวน้ำได้ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแผนตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดในรายงานประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) และรายงานการศึกษามาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Environmental & Safety Assessment: ESA) อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ยังช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตไฟฟ้า สาเหตุของโลกร้อนอีกด้วย
โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ตั้งแต่ในช่วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้จ้างแรงงานท้องถิ่นทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ทำให้ชุมชนในพื้นที่รอบเขื่อนอุบลรัตน์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง กฟผ. จึงส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ โดยร่วมกับศูนย์วิจัยประมงน้ำจืด ปล่อยพันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำลงในอ่างเก็บน้ำปีละหลายล้านตัว พร้อมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการแปรรูปปลาและในอนาคตยังมีแผนพัฒนา
โรงเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ช่วยสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
เดินหน้าภารกิจผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อความยั่งยืน
กฟผ. ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. ซึ่งมีทั้งหมด 9 แห่ง รวม 16 โครงการทั่วประเทศ กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ปัจจุบัน กฟผ.อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการฯ ต่อที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ขนาดกำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ขนาดกำลังผลิต 158 เมกะวัตต์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ขนาดกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้สำเร็จ เพื่อความยั่งยืนของโลก และเพื่อพวกเราทุกคน (EGAT for ALL)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: