X

สรุปผล ‘รล.สุโขทัย’ อับปางจากสภาพอากาศ ‘อดีต ผบ.เรือ’ ขอลาออก

กรุงเทพฯ – กองทัพเรือ เปิดผลสอบข้อเท็จจริง เรือหลวงสุโขทัยอับปาง เกิดจากเหตุสุดวิสัย สภาวะอากาศแปรปรวนฉับพลัน สั่งลงโทษกัก 15 วัน ผู้บังคับการเรือ เพราะตัดสินใจไม่รอบคอบ แต่ไม่ต้องชดใช้ความผิดทางละเมิด เหตุ ไม่ได้เกิดจากความจงใจ ขณะที่เจ้าตัวขอลาออก

วันที่ 9 เม.ษายน 2567 พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานการแถลงข่าว ผลการสอบสวนกรณี เรือหลวงสุโขทัยอับปางกลางทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

สรุปว่า เรือหลวง (รล.) สุโขทัยอับปาง เกิดจากเหตุสุดวิสัย สภาพอากาศและคลื่นลม สภาวะอากาศแปรปรวน เปลี่ยนแปลงฉับพลัน รุนแรง คลื่นสูง 6 เมตร ซึ่ง รล.สุโขทัย สามารถเดินเรือได้ที่ Sea Stage 5 ในระดับคลื่นที่มีความสูง 2.5-4 เมตร สภาพอากาศที่มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ฉับพลัน ทำให้เรือโคลงมาก ควบคุมเรือได้ยาก การทรงตัวของเรือและกำลังพลอยู่ในภาวะไม่ปกติ โดยในวันที่ 18-19 ธันวาคม มีเรืออับปางในอ่าวไทยถึง 7 ลำ

เรือรั่วเกิดจากการกระแทกจากภายนอก คลื่นแรง น้ำเข้า ไฟดับ คุมเรือไม่ได้
พล.ร.ต.อภิรมย์ เงินบำรุง เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ในฐานะคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค และกรรมการสอบสวนฯ แถลงว่า รล.สุโขทัย เอียงก่อนและน้ำเข้าทางดาดฟ้า จากนั้นเรือจึงจมทางท้ายเรือ โดยแผ่นกันคลื่นยุบ มีพื้นที่เสียหายราว 148 ตร.ม. ซึ่งใหญ่มาก จากคลื่นลมแรง ทำให้ดาดฟ้าเปิดเป็นช่อง เมื่อเรือมุดคลื่นจึงทำให้น้ำเข้ามาในเรือมาก

สำหรับรอยรั่วของเรือที่ยุบเข้าไป เกิดจากวัตถุภายนอกกระแทก ไม่ได้เกิดจากตะเข็บเรือ แต่ไม่พบวัตถุตกอยู่

จากการสำรวจบริเวณหัวเรือ เป็นห้องเก็บเชือกในการเทียบเรือ ซึ่งเป็นห้องที่มีโอกาสที่ทำให้น้ำเข้าได้ และทำให้เรือเอียง รวมถึงประตูใต้ป้อมปืนที่ปิดไม่สนิท ทำให้น้ำไหลไปห้องทางเดิน และไปท่วมห้องเครื่อง

ส่วนความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการเสียการทรงตัว คือ แผ่นกันคลื่น ป้อมปืน 76 มม. ทะลุบริเวณกราบซ้าย ห้องกระชับเชือกหัวเรือ และประตูด้านท้ายป้อมปืน แผลพวกนี้ทำให้น้ำเข้าเรือ และท่วมไปยังห้องด้านหลัง และทำให้เรือเสียการทรงตัวเอียงและจมในที่สุด

พล.ร.ต.อภิรมย์ กล่าวต่อว่า กระทั่งเวลา 07.00 น. วันรุ่งขึ้น เรือเจอคลื่นแรงเพราะสวนคลื่นตรง ๆ ทำให้แผ่นกันคลื่นเกิดล้าและฉีกออกเป็นรู ส่งผลน้ำเข้าใต้ป้อมปืน 76 มม. และเกิดเหตุการณ์หลายอย่าง ทั้งไฟไหม้ ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว ไฟดูดกำลังพล ตัดสินใจนำเรือกลับสัตหีบ

เวลา 15.45 น. เปลือกไฟเบอร์กลาสป้อมปืน 76 มม.ชำรุด (ชำรุดมาก่อน เพิ่งมาพบ) ซึ่งขณะนั้น เรือเอียงมากว่า 45 องศา ระบบต่าง ๆ เริ่มใช้การไม่ได้
กระทั่ง เวลา 24.00 น. เรือจมลง

สรุปสาเหตุการอับปาง
1.เรือรั่วหลายจุด
2.สภาพคลื่นลมรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน รวมถึง รล.สุโขทัยเก่า ใช้งานมากว่า 30 ปี
3.เกิดความเสียหายในตำแหน่งที่ทำให้น้ำเข้าสู่ห้องเรือ
4.เมื่อเรืออยู่ในสภาวะเอียง น้ำทะเลเข้าทางช่องระบายอากาศต่อเนื่อง และไหลเข้าเครื่องจักรใหญ่ และส่วนท้าย
5.เรือสูญเสียการทรงตัว ตั้งแต่เวลา 15.00 น.จนจม เวลา 24.00 น. ใช้เวลา 9 ชั่วโมง แสดงว่า การผนึกน้ำทำได้ดี แต่น้ำเข้าจากช่องทางอื่น
6.การป้องกัน การตรวจสอบสาเหตุน้ำเข้า ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะคลื่นลมแรง จึงต้องพยายามนำน้ำออก เกิดการชำรุดของเครื่องจักรใหญ่ ระบบไฟฟ้าลัดวงจร ไฟไหม้ ทำให้การแก้ไขทำได้ยาก กรณีไฟดูดต้องตัดไฟ ทำให้สูบน้ำออกจากเรือไม่ได้ สู้กับน้ำที่เข้ามาไม่ได้

ตัดสินใจผิดพลาด นำเรือกลับสัตหีบ สั่งขัง ผบ.เรือ 15 วัน
พล.ร.อ.สุรศักดิ์ สิงขรวัฒน์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ในฐานะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทัพเรือภาคที่ 1 สรุปผลสอบว่า

เรือมีความพร้อมตามมาตรฐาน ก่อนการส่งมอบ ภายหลังการซ่อมบำรุงปี 2564 เสื้อชูชีพเพียงพอกับกำลังพล เสื้อชูชีพเบิกจ่ายไป 120 ตัว กำลังพล 105 นาย แต่กำลังพลสมทบไม่ได้ไปรับเสื้อชูชีพ และกำลังพลบางส่วนไม่สามารถลงไปใส่เสื้อชูชีพได้ แพชูชีพจำนวน 6 แพ อยู่บริเวณทางกราบซ้าย-ขวา เมื่อเกิดเหตุสามารถปลดเรือชูชีพกราบขวาได้ 2 แพ อีก 4 แพอยู่ในพื้นที่อันตรายเข้าถึงยาก เมื่อเรืออับปาง เรือชูชีพทั้งหมดจึงหลุดออกจากที่ติดตั้ง

อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับการ รล.สุโขทัย ระบุว่า ภารกิจนี้ไม่ใช่ภารกิจรบเต็มรูปแบบ จึงจัดกำลังไปเพียง 75 จาก 100 นาย รวมถึงจัดที่พักอาศัยบนเรือ ให้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่ง รวม 30 นาย เมื่อเจอภาวะคลื่นลมรุนแรง ทำให้ประสิทธิภาพลดลง และทำงานได้อย่างจำกัด ทั้งนี้ อุปกรณ์ป้องกันความเสียหายมีครบทั้งหมด และเมื่อพบว่าน้ำเข้า ลูกเรือช่วยป้องกันเต็มที่ โดยได้ผนึกน้ำทันที แต่ไม่สามารถไปตรวจสอบความเสียหายนอกตัวเรือได้

การตัดสินใจของ ผู้บังคับการ รล.สุโขทัย ที่จะนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี แม้ไกล และใช้เวลามากว่า นำเรือเข้าเทียบท่า ประจวบฯ เพราะคลื่นหน้าท่าสูงและรุนแรง หากนำเรือเทียบท่าจะไม่สามารถจัดเรือลากจูงเข้าสนับสนุนการเทียบเรือได้ การเข้าเทียบอาจเกิดอันตราย รวมถึงเวลานั้นยังไม่ได้ข้อมูลว่า แผ่นกันคลื่นฉีกขาด และหากนำเรือพ้นพื้นที่ใกล้ฝั่ง คลื่นลมอาจเบาบางลง ซึ่งเป็นการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลจำกัด

สรุปว่า เรืออับปางไม่ได้เกิดจากการจงใจของผู้บังคับการและลูกเรือ แต่เพราะสภาพอากาศที่รุนแรงฉับพลัน และน้ำทะเลเข้าตัวเรือ ทำให้เรือเอียงและจม

พล.ร.อ.สุรศักดิ์ แถลงต่อว่า อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ที่มีระยะทางไกลและใช้เวลานานมากกว่าการนำเรือเข้าท่าเรือประจวบฯ ของผู้บังคับการ รล.สุโขทัย เป็นการใช้ดุลพินิจโดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นความผิดตาม มาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติวินัยทหาร พ.ศ.2476 เห็นสมควรลงทัณฑ์ กักเต็มอำนาจการลงทัณฑ์ ของ ผบ.ทร.เป็นเวลา 15 วัน ส่วนคดีอาญาอยู่ในขั้นตอนของตำรวจ สภ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ผบ.เรือ ไม่ต้องชดใช้ทางแพ่ง เหตุ ไม่ได้จงใจ
พล.ร.อ.ชัยณรงค์ บุณยรัตกลิน ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดชอบทางละเมิด ชี้ว่า เมื่อเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ ต้องหาผู้รับผิด กรณีจงใจ หรือปฏิบัติเลินเล่ออย่างร้ายแรง

โดยคณะกรรมการฯ รวมรวมข้อเท็จจริง จากคณะกรรมการชุดต่าง ๆ พบว่า สาเหตุที่เรืออับปาง เกิดจากการจัดกำลังพลไม่ครบตามอัตรา ทำให้การป้องกันความเสียหายลดลง ไม่ได้เกิดจากการจงใจ แต่เป็นเพราะสภาพอากาศรุนแรง และในวันดังกล่าวมีเรือจม 7 ลำ รวมถึงการตัดสินใจนำเรือกลับสัตหีบ แทนการเทียบที่ท่าเรือบางสะพาน ผบ.เรือ แจ้งว่า เรือสามารถผนึกน้ำได้ และเครื่องจักรที่เหลือ 1 เครื่อง สามารถนำเรือกลับไปได้อย่างปลอดภัย แม้ยุทโธปกรณ์เสียหายและหากนำเรือกลับได้ ขณะที่การนำเรือเข้าไม่สามารถทำได้ เพราะคลื่นลมแรง จะไม่ได้รับการสนับสนุนในการเทียบเรือ

การตัดสินใจของ ผบ.เรือ เป็นดุลยพินิจที่สามารถทำได้ และไม่ได้จงใจให้เรืออับปาง จากข้อสรุปของสาเหตุเรืออับปางทั้ง 3 ประเด็น และ ผบ.เรือ รวมถึงลูกเรือ พยายามแก้ไขสถานการณ์แล้ว มีความเห็นว่า

“การอับปางของเรือหลวงสุโขทัย เกิดจากสภาพคลื่นลมรุนแรงเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการจงใจของผู้บังคับการเรือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด จึงไม่เข้าเงื่อนไข ในการรับผิดทางละเมิด ตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการปฏิบัติความเสียหายที่เกิดกับทางราชการ หรือทรัพย์สินของทางราชการ อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ผบ.และเจ้าหน้าที่จึงไม่ต้องชดใช้ความเสียหายทางแพ่ง”

ผบ.เรือ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
นาวาโทพิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ประกาศกลางวงแถลงข่าวว่า ขอลาออกจากราชการทหารเรือ เพื่อรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเกียรติของกองทัพเรือ และพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับผิดชอยของกองทัพ และทางคดี

ผบ.ทร.ยืนยัน ช่วยเหลือผู้สูญเสียดีที่สุด
พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ระบุในตอนท้ายว่า กองทัพเรือตระหนักถึงความสูญเสียกำลังพล อันเป็นกำลังสำคัญและเป็นที่รักของครอบครัว ขอกล่าวคำว่า ‘ขอโทษ’ อย่างสุดซึ้ง ที่เกิดการเสียชีวิตและสูญหายขึ้น ทร.ได้ดูแลและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างดีที่สุด

โดยได้มอบเงินสวัสดิการและเงินช่วยเหลือให้ได้ครบตามสิทธิ ไม่เคยละความพยายามในการค้นหากำลังพลที่สูญหาย 2 นาย ซึ่งต้องรอค่าสวัสดิการฌาปนกิจ จนกว่าจะครบ 2 ปี แต่กองทัพได้อนุมัติเงินไปก่อนแล้ว และขอพระราชทานยศสูงขึ้น พร้อมบรรจุบุตรหรือญาติทดแทน และปรับปรุงที่พักอาศัย ซึ่งช่วยเหลือหมดแล้ว เหลือเพียงการซ่อมแซมบ้านอีก 2 หลัง

ผบ.ทร. ยืนยันว่า ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบได้ อุบัติเหตุครั้งนี้นับเป็นความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือ ได้สั่งการจเรกองทัพเรือ นำความผิดพลาดไปศึกษา และเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก กำลังพลทุกคนของกองทัพเรือ จะชดเชยความเสียหายในครั้งนี้ ด้วยการมุ่งมั่นทำงานเสียสละ และอุทิศตนเพื่อทำหน้าที่ของกองทัพเรือต่อไป เพียงเพื่อขอให้กองทัพเรือ กลับมาเป็นที่เชื่อมั่น ศรัทธา และภาคภูมิใจ ตลอดไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"