กรุงเทพฯ – สงกรานต์ปี 2567 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง บาดเจ็บ 2,060 คน ลดลงจากปีที่แล้ว ส่วนยอดผู้เสียชีวิต 287 คน เพิ่มขึ้น เชียงรายเสียชีวิตสูงสุด 17 คน นายอนุทิน ชาญวีรกูล สั่ง สรุปผลการดำเนินงาน ถอดบทเรียน สร้างการสัญจรปลอดภัยสำหรับทุกคน
วันที่ 18 เมษายน 2567 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 17 เมษายน 2567 วันที่ 7 (วันสุดท้าย) ของการรณรงค์ ‘ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ’ เกิดอุบัติเหตุ 224 ครั้ง บาดเจ็บ 224 คน เสียชีวิต 28 คน
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม ช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11-17 เม.ย.67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง บาดเจ็บรวม 2,060 คน เสียชีวิตรวม 287 คน
♦ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด
♦ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ เชียงราย (82 ครั้ง)
♦ จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ แพร่ (80 คน)
♦ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ เชียงราย (17 ราย)
♦ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็ว ร้อยละ 41.49 ตามด้วย ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด
♦ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.90 ตามด้วย รถกระบะ รถยนต์เก๋ง
♦ ส่วนใหญ่เกิดบนถนนหลวง ร้อยละ 39.92
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า แม้จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน ยังคงเกิดจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย
ซึ่งแม้สิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์แล้ว แต่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้ประสานจังหวัด บูรณาการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ให้วิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียน การดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง ให้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัครในพื้นที่ ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำ ตักเตือน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงหลัก
ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: